ข่าวด้านอวกาศ และดาราศาสตร์
เดือนกันยายน 2548
นักวิทย์สนอาจมีชีวิตบนดวงจันทร์ดาวเสาร์
Scientists Reconsider Habitability of Saturns Moon
September 29th, 2005
ที่มา : www.space.com
www.livescience.com : Wild Things: The Most Extreme Creatures
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
เมื่อพิจารณาข้อมูลสดจากดาวเสาร์โดยยานอวกาศ Cassini กับข้อมูลสิ่งมีชีวิตบนโลกในสภาพแวดล้อมแบบที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิต ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวจันทร์ Titan ของดาวเสาร์
ภาพถ่ายชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททัน
Credit: NASA/JPL/Space Science Institute
คณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง สถาบันวิจัยตะวันตกเฉียงใต้ Southwestern Research Institute ในมลรัฐเทกซัส และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ประกาศผลการวิเคราะห์ข้อมูลดวงจันทร์ไททันจากยานคาสสินีพบว่าบนไททันอาจมีกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่ชีวิต อย่างเช่น แหล่งของเหลว โมเลกุลอินทรีย์ และแหล่งพลังงานความร้อน
นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจไททันเนื่องจากมันมีอุณหภูมิพื้นผิว 178 องศาเซลเซียส ซึ่งเย็นกว่าโลกเมื่อพันล้านปีก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิต แต่ชั้นบรรยากาศอันเต็มไปด้วยไนโตรเจน ไฮโดรเจนกับคาร์บอนที่เป็นต้นกำเนิดของสารไฮโดรคาร์บอนที่สำคัญต่อชีวิตบนโลก ทว่าสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายบนนั้นอาจไม่เหมาะกับชีวิตนัก รังสีอัลตราไวโอเลตกระตุ้นไนโตรเจนและมีเทนให้ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบนทำให้เกิดเมฆสีส้มและนำพากระแสสสารอินทรีย์ไปทั่วผิวดวงจันทร์ ที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ หุบเหว มหาสมุทร(มีเทน) การเคลื่อนตัวของแผ่นทวีปเฉกเช่นเดียวกับโลกยุคดึกดำบรรพ์
|
จุลชีพที่พบใต้ก้นทะเลลึก 4 กิโลเมตรในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกมันสามารถอยู่อาศัยได้ในบริเวณที่มีความเค็มกว่าน้ำทะเลปกติถึงสิบเท่า ความดัน 400 เท่าของความดันบรรยากาศ และขาคแคลนออกซิเจน Credit: University of Essex |
ภาพถ่ายจากยานสำรวจ Huygens แสดงพื้นผิวของไททันหินและของผสมระหว่างน้ำกับสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแช่แข็ง
Credits : ESA/NASA/JPL/University of Arizona
สำหรับบนโลกนั้น มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Extremophiles ซึ่งมีชีวิตอยู่บนสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้ อย่างเช่นพบในทะเลบริเวณที่มีความเค็มถึงสิบเท่าของน้ำทะเลปกติ สิ่งมีชีวิตที่พบในอุทยานแห่งชาติ Yellowstone ที่ไม่ต้องการธาตุอะไรอื่นนอกจากไฮโดรเจน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า psychrophiles สามารถทนอยู่ในอุณหภูมิ -5 ถึง 20 องศาเซลเซียส และใช้มีเทนในการผลิตพลังงาน
เหล่านี้ล้วนเป็นช่วยเปิดความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตลักษณะดังกล่าวบนไททัน.
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..................................................
วงโคจรแบบถอยกลับของดาวอังคาร
Mars set to reverse course
September 29th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ตั้งแต่ต้นปี ดาวอังคารปรากฎบนฟ้าบริเวณกลุ่มดาวราศีพิจิก (Scorpius) ที่ระยะ 333 ล้านกิโลเมตรจากโลก แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ดาวอังคารจะอยู่ห่างจากโลกเพียง 80 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น โดยมีความสว่างกว่าเมื่อครั้งวันปีใหม่ถึง 21 เท่า ภายในกลุ่มดาวราศีพฤษภ (Taurus) ต่อจากนี้ดาวอังคารจะยังคงเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งค่อยๆ หยุดในวันที่ 1 ตุลาคม แล้วส่ายไปๆมาก อยู่ราว 2 สัปดาห์ แล้วจึงเคลื่อนกลับไปทางทิศวันตกของท้องฟ้า จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม ดาวอังคารจะหยุดอีกครั้งแล้วเคลื่อนกลับมาทางตะวันออกอีกครั้ง
เส้นทางโคจรของดาวอังคารในช่วงวันที่ 13 กันยายน 2548 ถึง 8 มกราคม 2549
ปรากฎการณ์เรียกว่า การโคจรกลับ (retrograde motion) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับดาวเคราะห์ทุกดวง สำหรับนักดาราศาสตร์ยุคโบราณแล้วนี่เป็นปริศนาอันใหญ่หลวง สำหรับผู้สังเกตบนโลกจะเห็นดาวอังคารเคลื่อนกลับไปมาเป็นวง
ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ล้วนโคจรรอบโลกเป็นวงกลมสมบูรณ์ ดังนั้นการอธิบายการเคลื่อนที่แบบโคจรกลับจึงไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลเท่าใดนัก อย่างน้อยคำอธิบายสุดท้ายก็คือ ดาวเคราะห์โคจรรอบโลก และโคจรรอบจุดๆ หนึ่งซึ่งโคจรรอบโลกเช่นกัน เรียกวงโคจรเล็กๆนั้นว่า Epicycle ที่มีทั้งแบบวงกลมไปจนถึงเกลียวสปริง ทว่าแนวคิดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการสังเกตการณ์ ดังนั้นการอธิบายนี้จึงใช้การไม่ได้
วงโคจรแบบ epicycle ที่ดาวอังคารโคจรรอบจุดๆ หนึ่ง บนแนวโคจรรอบโลก(เมื่อให้โลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ)
credits: http://eee.uci.edu/clients/bjbecker/ExploringtheCosmos/epicycle1.jpg
จนกระทั่งในคริสตศักราช 1543 นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์นามว่า นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (1473-1543) ได้ตีพิมพ์งานทั้งชีวิตของเขาในชื่อ De revolutionibus ซึ่งเปิดเผยความลับของวงโคจรแบบ Retrograde ด้วยการสาธิตให้เห็นว่าเมื่อให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีดาวเคราะห์อื่นๆ รวมทั้งโลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ ก็จะสามารถอธิบายปริศนาการเคลื่อนที่ถอยหลังและเคลื่อนกลับมาข้างหน้าของดาวเคราะห์ทั้งหมดได้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับในกรณีที่เราขับรถแซงรถคันอื่นบนถนนนั่นเอง เมื่อรถทั้งสองคันเคลื่อนที่ในทิศเดียวกัน แต่มีอยู่คันหนึ่งที่ช้ากว่า เมื่อถูกแซงรถคันที่ช้าก็เสมือนว่าเคลื่อนที่ถอยหลังเมื่อมองจากสายตาผู้โดยสารในรถคันที่เร็วกว่า
ไดอะแกรมอธิบายการมองเห็นการเคลื่อนแบบวงกลับของดาวเคราะห์วงนอกเมื่อมองจากโลก โดยพิจารณาว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เร็วกว่าดาวอังคาร
Credits http://www.ap.stmarys.ca/~ishort/Images/SolSystem/PlanetMtn/Retrograde/
ครั้งสุดท้ายที่เราเห็นการเคลื่อนที่แบบนี้ของดาวอังคารคือเมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2546 สำหรับเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึง โลกและดาวอังคารกำลังเคลื่อนไปในทิศเดียวกันรอบดวงอาทิตย์ ดาวอังคารที่ช้ากว่าจึงดูเหมือนว่าเคลื่อนถอยไปจากโลก(เร็วกว่า)
ความน่าสนใจของครั้งนี้ก็คือดาวอังคารจะเข้าสู่หยุดนิ่งในวันที่ 1 ตุลาคม ก่อนจะถอยหลังและเข้าสูจุดหยุดนิ่งที่สองในวันที่ 10 ธันวาคม แล้วค่อยๆ กลับมาทางตะวันออก
ช่วงนี้ดาวอังคารจะปราฏกเป็นสีส้มในเหลืองบนท้องฟ้าตะวันออกในช่วงค่ำๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือนในช่วงที่กำลังเข้าใกล้โลก
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..................................................
ส่วนผสมของดาวหาง
Surprises Found in Comet Recipe
September 26th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ผลวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ บ่งชี้องค์ประกอบของดาวหาง Tempel 1 ที่ถูกยิงโดยยาน Deep Impact ไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเผยรายการส่วนผสมของดาวหางที่จะถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิจัยในอีกหลายปีข้างหน้า Carey Lisse แห่งห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ อธิบายก่อนหน้านี้รายงานผลการศึกษา Tempel 1 จากกล้องโทรทรรศน์นับสิบกล้องถูกประกาศออกไป โดยมีข้อสรุปว่า Tempel 1 เป็นลูกบอลปุกปุย กว่าร้อยละ 50 เป็นเกล็ดน้ำแข็ง กล้องถ่ายภาพรังสีอินฟราเรดบนสปิตเซอร์ถูกใช้เพื่อติดตามสสารที่กระจายออกมาจากการชนของ Deep Impact เพื่อขยายผลการศึกษาพื้นฐานนั้น ทีมวิจัยของ Lisse พบองค์ประกอบมาตรฐานของดาวหาง ที่น่าสนใจก็คือมันมีดินเหนียวกับคาร์โบเนตรวมอยู่ด้วย ซึ่งนักดาราศาสตร์ไม่เคยคาดมาก่อนว่าจะพบองค์ประกอบเหล่านี้เนื่องเพราะการที่สารทั้งสองชนิดจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีน้ำในสถานะของเหลวอยู่ในกระบวนการด้วย |
|
|
ดินเหนียวกับคาร์โบเนตเกิดขึ้นบนดาวหางที่ถูกแช่แข็งได้อย่างไร เรายังไม่ทราบแน่ชัด แต่การมีอยู่ของมันมีนัยยะว่า ระบบสุริยะยุคดึกดำบรรพ์ ต้องคละเคล้าปนเปกันไปด้วยสสารนานาชนิด นั่นรวมไปถึงสสารที่ควรจะเกิดในบริเวณใกล้ๆ ดวงอาทิตย์อย่างน้ำ(ของเหลว) และสสารที่ถูกแช่แข็งจากบริเวณใกล้ๆ ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูนถึงได้มารวมกันในวัตถุชิ้นเดียวกันได้นักวิทยาศาสตร์หวังว่าเมื่อทราบส่วนผสมใหม่นี้แล้วจะส่งผลดีต่อการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ สำหรับการศึกษาการกำเนิดของระบบสุริยะ ทั้งดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์และเทหวัตถุอื่นๆ รวมไปถึงระบบดาวอื่นๆ ด้วย ขณะนี้ เราเลิกเดาได้แล้วว่าข้างในดาวหางมีอะไร Mike AHeam แห่งภารกิจ Deep Impact และนักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กล่าว ข้อมูลเหล่านี้ Lisse จะเสนอผลการศึกษาในการประชุมประจำปีครั้งที่ 37 ของแผนกดาวเคราะห์วิทยา ของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน(American Astronomical Society) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2548 ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร |
http://www.astroschool.in.th/1024size/high/morning/news/detail_news_inc.php?id=265
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..................................................
ดาวเคราะห์เกิดใหม่รอบดาวฤกษ์ที่สิ้นชีพ
Strange Activity Surrounds Dying Star
September 26th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
นักดาราศาสตร์พบดาวฤกษ์ที่ใกล้สิ้นอายุขัย ทว่ากลับมีฝุ่นผงซึ่งอุดมไปด้วยโลหะโคจรอยู่รอบๆ ต้นกำเนิดของฝุ่นเหล่านั้นยังคงเป็นปริศนา เช่นเดียวกับที่พวกมันควรถูกดูดเข้าไปในดาวภายในไม่กี่ร้อยปีข้างหน้า
ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 8 เมตร Frederick C. Gillett แห่งหอสังเกตการณ์ Gemini บนยอดเขา Mauna Kea และภาพถ่ายสเปคตรัมในช่วงอินฟราเรดกลาง (mid-infrared)
ขนาดเปรียบเทียบระบบดาว GD362 ดาวแคระขาวขนาดเท่าโลกล้อมรอบด้วยจานฝุ่นขนาดเท่าวงแหวนดาวเสาร์
Credit: Jon Lomberg, Gemini Observatory
แม้ว่าวัตถุผิดปกตินี้จะอยู่ห่างจากโลก 82 ปีแสง และมีอายุหลายพันล้านปี นักดาราศาสตร์หลายคนยังเชื่อว่ามันอาจให้ภาพในอนาคตของระบบสุริยะ เมื่อดวงอาทิตย์สูญเสียสภาพดาวฤกษ์ในอีก 6 พันล้านปี ข้างหน้า
ระหว่าง 3 5 พันล้านปีก่อน GD362 เคยเป็นดาวฤกษ์ชนิดเดียวกับดวงอาทิตย์ อันมีมวลเป็น 7 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งวาระสุดท้ายของมันนั้น แกนกลางของดาวจะกลายเป็น ดาวแคระขาว ส่วนก๊าซที่ห่อหุ้มแกนกลางจะกระจายตัวออกไป ความร้อนที่หลงเหลืออยู่จะแผดเผาฝุ่น หิน และดาวเคราะห์ให้กลายเป็นจานฝุ่นล้อมรอบดาวแคระขาว จากนั้นดาวแคระขาวก็จะดูดฝุ่นเหล่านั้นลงไปใหม่พร้อมทั้งแผดเผาให้กลายเป็นเถ้าภายในไม่กี่ร้อยปี
ภาพจำลอง GD362 ดาวเคราะห์บริวารของดาวแคระขาวกำลังปลดปล่อยมวลสารออกมาเป็นจานฝุ่น
Credit: Jon Lomberg, Gemini Observatory
แต่เมื่อ GD362 ผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว 5 พันล้านปี ดูเหมือนว่าฝุ่นจะไม่ถูกเผาจนหมดไป นักดาราศาสตร์ยังคงฉงนว่าเหตุใด ซากดาวขนาดเท่าโลกดวงนี้จึงยังคงมีฝุ่นล้อมรอบเป็นวงแหวนเช่นเดียวกับดาวเสาร์มาเนิ่นนานถึงขนาดนี้ นอกจากนี้บางคนยังเชื่อว่ามันจานฝุ่นที่อุดม ไฮโดรเจน ฮีเลียม หรือธาตุที่หนักกว่าอย่าง แคลเซียม โซเดียม ออกซิเจน เหล็ก และแมกนีเซียมไปด้วย กำลังเกิดระบบดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย หรือแม้แต่ดาวหาง รอบๆ ซากดาวนั้น
การมีอยู่ของจานฝุ่นอธิบายได้ว่า ดาวเคราะห์บริวารเคลื่อนเข้าใกล้ดาวแคระขาว แรงไทดัลจากดาวแคระขาวจะฉีกกระชากดาวเคราะห์ให้หลุดเป็นชิ้นๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดกับโลกในวันใดวันหนึ่งถ้าดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้โลก หรือเคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของวงแหวนดาวเสาร์ อีกแนวคิดหนึ่งคือเกิดจากดาวหางโคจรเข้าใกล้ดาวแคระขาวแล้วถูกฉีกเป็นชิ้นๆ จนกลายเป็นฝุ่นทิ้งไว้ตามรายทาง
แรงไทดัล คือแรงที่ใช้อธิบายน้ำขึ้นน้ำลงบนโลก ซึ่งเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงลัพธ์ที่บนผิวดาวไม่เท่ากัน หากวัตถุสองชิ้นที่ขนาดไม่เท่ากับศูนย์เข้ามาใกล้กันแรงไทดัลระหว่างวัตถุทั้งสองอาจมากพอจะฉีกกระชากดาวให้ฉีกเป็นชิ้นได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์พบกลุ่มฝุ่นล้อมรอบดาวแคระขาว ย้อนกลับไปในปี 2530 Zukerman และทีมงาน พบ G29-38 ซึ่งเป็นดาวแคระขาวที่มีวงแหวนฝุ่น แต่มันมีปริมาณฝุ่นน้อยกว่า GD362 ถึง 100 เท่า
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...................................................
ข้างในดาวเคราะห์น้อย Ceres อาจมีน้ำแข็ง
An icy interior of Ceres?
September 22th, 2005
ที่มา : www.astronomy.com
Stardust Eyes in The City of Angel
Ceres เป็นดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยซึ่งวางตัวอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส มันมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 952 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย นอกจากนี้ มันยังมีความหนาแน่นต่ำ สะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อย (สัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงต่ำ) และภาพถ่ายสเปคตรัมที่ชี้ว่าองค์ประกอบภายในของดาวเคราะห์น้อยไม่ค่อยซับซ้อนนัก
ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เท่ารัฐเทกซัส ซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์ขนาดย่อม ภาพจากกล้องฮับเบิล เมื่อธันวาคม 2003 และ มกราคม 2004 แสดงลำดับภาพการหมุนของดาวNASA/ESA/STScI/J. Parker, P. Thomas, and L. McFadden; composite: Francis Reddy
ทีมวิจัยนำโดย Peter Thomas แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล์ ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถ่ายภาพ Ceres เมื่อธันวาคม 2546 และ มกราคม 2547 แล้ววิเคราะห์รูปร่างของ Ceres ผลการศึกษาพบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีสมมาตรต่อการหมุน (เมื่อพิจารณาแต่ละลองจิจูด) สิ่งนี้ชี้ว่ารูปร่างของ Ceres ถูกกำหนดโดยสมดุลทางอุทกสถิตย์ (hydrostatic equilibrium) ซึ่งความหนาแน่นมวลสารถูกควบคุมโดยความดันภายในวัตถุดาวเคราะห์น้อยเดียวกับดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ ทั้งดาวเคราะห์ก๊าซอย่างดาวพฤหัสหรือดาวเคราะห์หินแบบโลก
ดาวเคราะน้อย Ceres อยู่ในแถบเข็มขัดดาวเคราะห์น้อย(Asteroid belt) ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส
Credit : http://www.crystalinks.com/asteroid.html
นักดาราศาสตร์บางท่านคิดว่ารูปร่างของเทหวัตถุที่ถูกกำหนดโดย สมดุลทางอุทกสถิตย์ สามารถเป็นกุญแจแยกแยะความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์กับดาวเคราะห์น้อย ถ้าหากเรายอมรับแนวคิดนี้ Ceres ก็สมควรจะเป็นดาวเคราะห์
การวัดรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยให้ข้อมูลที่บ่งชี้องค์ประกอบภายในดาวได้ นอกจากมันจะเหมือนกับทรงกลมสมบูรณ์แล้ว ดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์(หรือดาวเคราะห์น้อยในกรณีของ Ceres) ยังมีความแป้น โดยการเปรียบเทียบระยะจากศูนย์กลางถึงศูนย์สูตรและขั้ว นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดความแป้นซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างภายในของดาวได้เช่นกัน
ภาพถ่ายในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตของ Ceres โดยกล้องฮับเบิล ลูกศรชี้ทิศทางของดวงอาทิตย์ แนวเหนือ(N) ตะวันออก (E) แต่ละภาพเรียบตามเฟสการหมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 9.075 ชั่วโมง Credits: Southwest Research Institute
Ceres มีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.077 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (ประมาณสองเท่าของน้ำ) ถ้าหากเทหวัตถุนี้มีความหนาแน่นสม่ำเสมอที่รัศมีที่ขั้วควรเล็กกว่ารัศมีศูนย์สูตร เป็นระยะ 39.7 km ทว่าในความเป็นจริงรัศมีที่ขั้วเล็กกว่ารัศมีศูนย์สูตรเพียง 32.6 กิโลเมตร นี่เป็นหลักฐานเด็ดที่ชี้ว่ายังมีชั้นสสารที่แตกต่างออกไปอยู่ภายใน ในความเป็นจริงความเป็นเพียงเล็กน้อยนี้บ่งบอกว่าภายในดาวเคราะห์น้อยมีชั้นแมนเทิลและแกนกลาง
ทีมวิจัยของ Peter พัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของโครงสร้างภายใน Ceres โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจ พวกเขาพบว่า Ceres มีแกนกลางเป็นหินหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่เป็นน้ำแข็งหนาถึง 124 กิโลเมตร โดยน้ำแข็งคิดเป็นมวล 1 ใน 4 ของมวล Ceres ทั้งหมด
สเปคตรัมของดาวเคราะห์น้อยไม่ปรากฏสัญญาณของน้ำบนผิวดาว แม้จะมีน้ำแข็งบนผิวดาวมันก็จะระเหยออกสู่อวกาศอย่างรวดเร็ว
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.........................................................
ข้อมูลดาวเคราะห์ดวงที่ 10 แห่งระบบสุริยะ Part 1
Object bigger than Pluto discovered,called 10th planet
September 19th, 2005
ที่มา Gemini Observatory Shows that 10th Planet Has a Pluto-Like Surface
www.Skyandtelescope.com : astronomer discover 10th planet
จากรายงานการค้นพบวัตถุที่คาดว่าจะเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ 2003UB 313 โดยศูนย์ดาวเคราะห์น้อยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Minor Planet Center ,Cambridge) มลรัฐแมสซาชูเซท เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2548
ภาพจำลองแสดงพื้นผิว 2003 UB 313 ที่อาจมองเห็นได้จากอวกาศ Gemini Observarory Image/Jon Lomberg
ภาพถ่ายสเปคตรัม ของ 2003UB 313 เมื่อ 25 มกราคม 2548 โดย Chad Trujillo หนึ่งในทีมงานของหอสังเกตการณ์ Gemini และหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยที่ค้นพบวัตถุท้องฟ้าดวงนี้ ร่วมกันบMike Brown จากสถาบันเทคโนโลยีคาลิฟอร์เนีย(Caltech) และ David Rabinowitz จากมหาวิทยาลัยเยล
แม้ว่าทีมผู้ค้นพบยังคงไม่สามารถคำนวณขนาดที่แน่นอนของเทหวัตถุใหม่นี้ แต่จากการประมาณคร่าวๆ โดยตั้งสมมติฐานว่าหากวัตถุนี้มีสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงอาทิตย์ (Albedo) ร้อยละ 100 พบว่ามันมีขนาดเท่ากับดาวพลูโตหรือใหญ่กว่านั้น
ขนาดวงโคจรโดยประมาณ (บน) และเปรียบเทียบขนาดดาว (ล่าง) โดยประมาณ สำหรับ ระนาบวงโคจรของ 2003UB313 ทำมุม 45 องศากับระนาบของระบบสุริยะ ขณะที่ระนาบวงโคจรของพลูโตอยู่ที่ 15 องศา
2003UB313 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะ 97 AU (Astronomical Unit : ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์) หรือคิดเป็นสามเท่าของระยะทางระหว่างดาวพลูโตถึงดวงอาทิตย์ อันเป็นตำแหน่งที่ไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์ การคำนวณพบว่าอีก 280 ปีข้างหน้ามันจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะ 56 AU และมีคาบการโคจร 560 ปี
ดาวเคราะห์ดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2547 จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เมตร Samuel Oschin ณ เทือกเขา Palomar มลรัฐคาลิฟอร์เนีย
เปรียบเทียบเส้นสเปคตรัมของพลูโตกับ 2003 UB 313 ลูกศรสีแดงหมายถึงเส้นสเปคตรัมแบบดูดกลืนที่บ่งชี้การมีอยู่ของมีเทนบนผิวดาวเช่นเดียวกันทั้งสองดวง
2005UB313 Gemini Observatory /Trujillo, Brown and Rabinowitz
Pluto ( Rudy et al. 2003).
เพื่อศึกษาลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์ ทีมวิจัยใช้ภาพถ่ายสเปคตรัม จากอุปกรณ์ถ่ายภาพสเปคตรัมในช่วงคลื่นรังสีใต้แดงความยาวคลื่นใกล้สีแดง ซึ่งติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์ Gemini North ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 8 เมตร บนยอดเขา Mauna Kea ณ เกาะฮาวาย สเปคตรัมที่ได้ ชี้ว่า มี มีเทนในสถานะถูกแช่แข็งดังภาพ
การมีอยู่ของมีเทนในสถานะของแข็งแสดงให้เห็นว่าพื้นผิวดึกดำบรรพ์นั้นไม่ได้รับความร้อนมากพอที่จะระเหยมีเทนได้ มานานนับ 4,500 ล้านปี นับแต่ระบบสุริยะกำเนิดมา แต่ถ้า 2003 UB 313 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มีเทนแช่แข็งจะระเหยอย่างรวดเร็ว
เท่าที่นักวิทยาศาสตร์ทราบ มีเทนที่พบในวัตถุในแถบ Kuiper Belt มีเพียงมีเทนบนดาวพลูโต และดวงจันทร์ Triton ของดาวเนปจูน เท่านั้น
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
....................................................
ข้อมูลดาวเคราะห์ดวงที่ 10 แห่งระบบสุริยะ Part 2
Object bigger than Pluto discovered,called 10th planet
September 19th, 2005
ที่มา Gemini Observatory Shows that 10th Planet Has a Pluto-Like Surface
www.Skyandtelescope.com : astronomer discover 10th planet
ช่วงที่มีการประกาศการค้นพบ 2003 UB313 เกิดความสับสนในข่าวสารเนื่องจากก่อนหน้านี้ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ทีมของ Brown ได้ประกาศผลการศึกษาวัตถุที่ชื่อว่า 2003 EL61 ซึ่งห่างจากดวงอาทิตย์ 52 AU ถูกค้นพบโดย Jose-Luis Ortiz จาก หอสังเกตการณ์เซียร์ร่า เนวาด้า ในสเปน 2003 EL61 เป็นวัตถุที่ใหญ่เป็นอันดับสามในแถบเข็มขัดไคเปอร์ ด้วยขนาดประมาณร้อยละ 70 ของพลูโต(ประมาณ 1500 กิโลเมตร, รองจากพลูโตและ 2003 UB313)
เปรียบขนาดของ 2003 EL 61 กับโลก ดวงจันทร์ พลูโต Quaoar และ Sedna
http://www.gps.caltech.edu/~mbrown/2003EL61/
ทีมของ Brown พบมันในวันที่ 28 ธันวาคม 2547
(หลังจากวันคริสต์มาสเพียง 3 วัน)
จึงตั้งชื่อเล่นว่า Santa การสำรวจด้วยกล้อง Keck
ในเดือนมกราคม 2548 พบว่า 2003
EL61 มีดวงจันทร์ขนาดเล็กโคจรรอบด้วยวงโคจรเกือบกลม ด้วยคาบ 49
วัน ที่ระยะ 49,500 กิโลเมตร จากดาวแม่ 2003EL61
มีมวลประมาณหนึ่งในสี่ของพลูโต(ประมาณ 4
ล้านล้านล้านตัน) ส่วนดวงจันทร์บริวารมีมวลเพียงร้อยละ 1
ของมวลรวมทั้งระบบ 2003 EL61
ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของคาบการโคจรอยู่เลยวงโคจรของพลูโตออกไป
และอีกครึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าพลูโต
เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2548 ทีมของ Brown ใช้กล้องสปิตเซอร์ถ่ายสเปคตรัมของ 2003UL 61 และพบหลักฐานว่ามีน้ำแข็งบนผิวดาว คล้ายกับบนดวงจันทร์ Charon บริวารของพลูโต
วงโคจรของ 2003 UB 313 (สีแดง) เทียบกับวงโคจรของ Sedna (เส้นสีขาวรูปไข่)
หลังจากการค้นพบ Sedna มาจนถึง 2003 UB 313 ณ วงโคจรอันห่างไกลจากดวงอาทิตย์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ดาวเคราะห์คืออะไร วัตถุหลายชนิดในระบบสุริยะของเราส่วนมากเรามั่นใจได้ว่ามันมิใช่ดาวเคราะห์ เช่น ดาวหาง(Comet) ดาวเคราะห์น้อย (asteroids or minor planets) ดวงจันทร์ (Satellites) ฝุ่น (dust grains) อนุภาคมีประจุ (charged particles)
บางคนกล่าวว่า Pluto ไม่ควรจะเรียกว่าดาวเคราะห์ ด้วยขนาดที่เล็กเกินไป วงโคจรที่รีมาก และระนาบวงโคจรที่เอียงทำมุมกับระนาบระบบสุริยะ แต่พลูโตก็ถูกบรรจุให้เป็นดาวเคราะห์เพราะว่ามันมีดวงจันทร์บริวารเหมือนๆ กับดาวเคราะห์ทั้งหลาย และประกอบขึ้นจากสสารแบบเดียวกับสสารในดาวเคราะห์ทั่วไป
ขยายวงโคจรของดาวเคราะห์ทั้งเก้า และ 2003UB313 (สีแดง) จะเห็นว่ามันโคจรตัดเข้าไปในวงโคจรของดาวพลูโต แต่ระนาบวงโคจรทำมุมเอียงกับระนาบระบบสุริยะ 45 องศา
อีกหลายคนเสนอว่าให้ ปลด
พลูโตออกจากความเป็นดาวเคราะห์ รวมถึง 2003 UB 313 ,
Sedna และวัตถุอื่นๆที่คล้ายกัน
แต่ข้อเสนอนี้เป็นอันตกไป
2003 UB 313 มีจุดที่แตกต่างจากพลูโต คือ มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย อยู่ในแถบ Kuiper Belt ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะ 3 เท่าของดาวพลูโต ระนาบวงโคจรเอียงถึง 44 องศา ซึ่งถือว่าเอียงมากเมื่อเทียบกับพลูโตที่เอียงเพียง 17 องศา ไม่เพียงแต่ 2003UB313 เท่านั้นแต่รวมไปถึงวัตถุอื่นๆ ที่คล้ายกันด้วย แม้ว่ายังมิมีข้อสรุปในวันนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ระบบสุริยะมากขึ้น และอาจมีสิ่งที่น่าตกใจรอให้เราสำรวจพบอีกได้
Mike Brown และทีมงาน จะรายงานผลการศึกษาทั้งหมดในการประชุมประจำปีครั้งที่ 37 ของ แผนกดาวเคราะห์วิทยาของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน(American Astronomical Society) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2548 ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
........................................................
ฝนดาวตกสิงโต
Leonids Meteor shower
September 15th, 2005
เรียบเรียงจาก
http://stardate.org/nightsky/meteors/
http://comets.amsmeteors.org/meteors/november_radiants.html
http://www.amsmeteors.org/showers.html
โดยทั่วไปดาวตก คือ หิน ฝุ่นผง น้ำแข็ง จากอวกาศที่ถูกดึงตกลงมาในชั้นบรรยากาศโลกแล้วเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนกลายเป็นลูกไฟพาดผ่านท้องฟ้าที่ความสูง 80 ถึง 30 ไมล์จากพื้น ด้วยขนาดดังกล่าวดาวตกเหล่านั้นจึงถูกเผาไหม้จนหมด น้อยครั้งที่ดาวตกเหล่านี้จะลงสู่พื้นกลายเป็นอุกกาบาต
ดาวตกเหล่านี้เกิดขึ้นทุกคืนทุกวันอยู่แล้ว แต่หากว่าจำนวนดาวตกทวีจำนวนขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นประจำทุกปี เราเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าฝนดาวตก
ฝนดาวตกสิงโต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 ถ่าย ณ Monteromano ประเทศอิตาลี ในรูปจะเห็นว่าดาวตก 8 ดวง พาดผ่านกลุ่มดาวนายพราน Credits : Lorenzo Lovato
โดยทั่วไปเศษซากฝุ่นผง หรือน้ำแข็ง ที่ดาวหางทิ้งเอาไว้ตามทางที่มันบินผ่าน เป็นแหล่งกำเนิดของฝนดาวตกอย่างดีทีเดียว เมื่อโลกโคจรตัดเข้าไปในแนววงโคจรของดาวหางเหล่านั้น แรงโน้มถ่วงของโลกก็จะดึงเอาสิ่งที่ดาวหางทิ้งไว้ตกลงมา ทำให้คนบนโลกมองเห็นดาวตกชุกกว่าปกติ ฝนดาวตกดังกล่าวมักปรากฏให้เห็นว่ามีจุดศูนย์ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า
ฝนดาวตกทั่วไปจะได้รับการเรียกขาน ตามกลุ่มดาวที่ศูนย์กลางของฝนดาวตกอยู่ ตัวอย่างเช่นฝนดาวตกสิงโต หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids Meteor shower) มีศูนย์กลางของดาวตกภายในกลุ่มดาวราศีสิงห์ (Leo) ฝนดาวตกเปอร์ซีอิดส์ ก็มีศูนย์กลางอยู่ภายในกลุ่มดาวเปอร์ซีอุส (Perseus)
แสดงศูนย์กลางของฝนดาวตกสิงโต จะเห็นว่าแนวการเคลื่อนที่ของดาวตก พุ่งมาจากบริเวณท้องฟ้าย่านกลุ่มดาวสิงโต
http://news.bbc.co.uk/cbbcnews/hi/sci_tech/newsid_2491000/2491159.stm
แต่ฝนดาวตกที่คนไทยมีโอกาสได้ชม ส่วนใหญ่จะเป็นฝนดาวตกที่เกิดในช่วงฤดูหนาว (ส่วนฝนดาวตกในช่วงฤดูฝนคนไทยมีโอกาสชมได้น้อยมากเนื่องจากเราจะได้ชมหยดน้ำฝนแทน) โดยเฉพาะฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) ปีนี้จะเกิดในช่วงวันที่ 13 20 พฤศจิกายน และตกชุกที่สุดในวันที่ 17 พฤศจิกายน เวลา 20:17 น. (เวลาประเทศไทย) ซึ่งเป็นเวลาที่กลุ่มดาวราศีสิงห์ยังไม่พ้นขอบฟ้าของประเทศไทย กลุ่มดาวราศีสิงห์จะขึ้น ณ ขอบฟ้าตะวันออกของไทย ในเวลาประมาณ 23:40 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านช่วงที่ฝนตกหนาแน่นที่สุดไปแล้ว ทว่าอุปสรรคยังไม่หมดเพราะว่าในวันนั้น เป็นวันแรม 1 ค่ำ (16 พฤศจิกายน เป็นวันเพ็ญ) และดวงจันทร์จะอยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลกลุ่มดาวสิงโตมากนัก
ขณะที่กลุ่มดาวสิงโต (Leo) พ้นขอบฟ้า ดวงจันทร์วันแรมก็อยู่ในกลุ่มดาววัว ซึ่งอาจส่งแสงรบกวนการมองเห็นดาวตกไม่มากก็น้อย
Credits : Program Sky Chart 3.51
ฝนดาวตกสิงโต เป็นฝนดาวตกที่คาดคำนวณความหนาแน่นได้ยาก โดยทั่วไปช่วงที่เกิดหนาแน่นจะเวียนมาทุกๆ 33 ปี โดยช่วงที่หนาแน่นที่สุดเกิดตั้งแต่ปี 2541 2545 ในขณะที่ปีนี้คาดกันว่าอัตราการเกิดอยู่ที่ 20 ดวงขึ้นไป ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง
แต่ในปีหน้าคาดการณ์กันว่าจะมีอัตราการเกิด 60 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 เวลา 2:11 นาที(เช้ามืดวันที่ 18 พฤศจิกายน) ตรงกับวันแรม 12 ค่ำ เดือน 11 (วันเพ็ญ ตรงกับ 5 พฤศจิกายน 2549)
ต่อจากนั้นคาดว่าจะไม่มีฝนดาวตกสิงโตที่มีอัตราการเกิดสูงในช่วงปี พ.ศ. 2576 หรือ 2609 แต่จะเกิดสูงสุดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2642
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.........................................................
กล้อง Spitzer ครบรอบสองปีกับดาราจักรแขนเดียว
Spitzer Turns Two
September 15th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2546 กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอันมืดมิดเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับวงการดาราศาสตร์อีกดวงหนึ่ง ชั่วระยะเวลาเพียงสองปี ด้วยดวงตาที่สามารถมองเห็นในย่านรังสีใต้แดง(Infrared) ได้ช่วยเปิดเผยดาราจักรที่หลบเร้นและอุดมไปด้วยแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ที่อบอุ่น จานฝุ่นรอบดาวฤกษ์ที่กำลังให้กำเนิดดาวเคราะห์อย่างป่วนปั่น และดาราจักรอันสวยสดงดงาม รวมไปถึงดาราจักรอันโดดเด่นที่เรารู้จักกันมาก่อนแล้วอย่าง NGC 4725
NGC 4725 ในช่วงรังสีใต้แดง โดยกล้องสปิตเซอร์ เกิดจากการรวมภาพที่ถ่ายในช่วงความยาวคลื่น 3.6 ไมครอน (น้ำเงิน) 4.5 ไมครอน (สีเขียว) 5.8 ไมครอน (สีแดง) และ 8.0 ไมครอน (สีแดง)
Image credit: NASA/JPL-Caltech
ภาพดาราจักรแปลกประหลาดนี้เคยเชื่อกันว่าเป็นดาราจักรแขนเดียว ดาราจักรแขนเกลียวส่วนมากมันมีแขนเกลียวสองแขนหรือมากกว่า นักดาราศาสตร์ชี้ว่า NGC 4725 เป็นดาราจักรวงแหวนแขนเกลียวที่มีบาร์ ดังจะเห็นได้จากวงแหวนครบรอบพอดีที่บาร์ซึ่งยื่นออกมาจากนิวเคลียสของดาราจักรนี้
ดาราจักร NGC 4725 ในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็น credit : Libby Harrell/Adam Block/NOAO/AURA/NSF
บาร์ของดาราจักรนี้วางตัวในแนวนอน ซึ่งมีร่องรอยสีแดงจางๆ ปรากฏพาดผ่านนิวเคลียส ดาราจักรทางช้างเผือกของเราดูเหมือนว่าจะมีหลายแขน และดูเหมือนว่าที่นิวเคลียสจะมีบาร์และวงแหวนเล็กๆ ด้วย
ภาพถ่ายที่จงใจให้สีเพี้ยนรายนี้ ให้สีแขนเกลียวเป็นสีแดง ขณะที่ศูนย์กลางและฮาโลเป็นสีน้ำเงิน สีแดงแสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มเมฆฝุ่นอันเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่ ขณะที่สีน้ำเงินคือดาวฤกษ์เก่า และมีอุณหภูมิต่ำกว่า ริ้วสีแดงซึ่งแผ่ออกมาจากแขนเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ถูกผลักเข้าหากันด้วยสนามแม่เหล็กที่ไม่เสถียร
หลายครั้งที่ Spitzer เปิดเผยความลับเบื้องหลังด้วยรังสีอินฟราเรด
อย่างเช่นกลุ่มก๊าซร้อนสามกลุ่มที่ไม่อาจมองเห็นได้ในช่วงแสงขาว(Visible Light)
NGC 4725 อยู่ห่างจากโลก 42 ล้านปีแสง ไปทางกลุ่มดาว Coma Berinices หรือ ผมของเบเรนิซ
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..........................................................
ดวงอาทิตย์ไม่เคยสงบอย่างแท้จริง
Sun Kicks Up Major Flare, More Expected
September 12th, 2005
ที่มา : www.space.com
www.nasa.gov : Huge Solar Flare Spotted
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ดวงอาทิตย์เกิดการลุกจ้าที่ผิว(Flare) ซึ่งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน และคาดว่าอาจจะมีการประทุครั้งต่อๆ ไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนดาวเทียมสื่อสาร หรือดาวเทียมปฏิบัติงานอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในอีกราวสองสัปดาห์
ภาพในช่วงรังสีเอกซ์ แสดงจุดสว่างด้านขวาซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดการลุกจ้า (Solar Flare)
Credit: NOAA/SXI
การลุกจ้า(flare)ครั้งนี้เกิดการระเบิดจากบริเวณจุดดับ 808 ซึ่งกำลังหมุนหันหน้าเข้ามาหาโลกพอดี มีอัตราความรุนแรง X-17 ซึ่งจัดว่ารุนแรงมากเป็นครั้งที่ 5 นับแต่เมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งน้อยครั้งที่ Flare จะมีอัตราความแรงเกินกว่า X-10 มันประทุขึ้นมาจากจุดดับ Sunspot ที่บริเวณขอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นขณะที่รังสีเอ็กซ์และรังสีอื่นๆเดินทางมาถึงโลกภายในไม่กี่นาที แต่สสารที่ถูกพ่นออกมาจากบริเวณดังกล่าวยังไม่พุ่งเข้าหาโลกโดยตรง
ภาพถ่ายรังสีเอกซ์ในอีกสองวันถัดมาจะเห็นว่าจุดที่เกิดการลุกจ้าหมุนเข้ามายังศูนย์กลางภาพเรื่อยๆ Credit: NOAA/SXI
การลุกจ้าถูกตรวจพบเมื่อเวลา 6:40 PM ตามเวลาสากล หรือราว 1:40 AM ตามเวลาประเทศไทย ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้คือ ความเสียหายของระบบสื่อสารด้วยความถี่สูงทางด้านกลางวันของโลก ซึ่งรวมไปถึงสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ หรือที่ใดก็ตามที่แสงอาทิตย์ส่องถึงในเวลานั้น แม้แต่ระบบนำทางความถี่ต่ำก็ถูกรบกวนด้วย
การลุกจ้าความเข้มสูงนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับ coronal mass ejections (CMEs) ซึ่งมักจะเกิดตามหลังมาไม่กี่ชั่วโมงหรือราวสองวันนับจากที่ตรวจพบ Flare
CMEs เป็นกลุ่มอนุภาคมีประจุที่ถูกผลักออกมาจากดวงอาทิตย์และขยายตัวตลอดระยะทางที่มันเดินทางมาคล้ายฟองสบู่ เมื่อกลุ่มอนุภาคเหล่านั้นมาถึงโลกมันจะก่อกวนสนามแม่เหล็กโลก ทำให้ดาวเทียมเสียหาย เกิดแสงเหนือแสงใต้ (Aurora) และแม้แต่ก่อกวนระบบส่งไฟฟ้าบนโลกด้วย โชคยังดีที่จุดที่เกิดการประทุไม่ได้ชี้ตรงมายังโลก การขยายตัวของกลุ่มอนุภาคดังกล่าวจึงแค่เฉียดโลกเท่านั้น
กราฟแสดงความเข้มของรังสีเอ็กซ์ในช่วงความยาวคลื่น 0.1-0.8 นาโนเมตร และ 0.05-0.4 นาโนเมตร
ทว่าขณะที่จุดดับดังกล่าวเริ่มหันหน้ามาทางโลกตามการหมุนของดวงอาทิตย์แล้วเกิดการประทุด้วยความรุนแรงอีกครั้งล่ะก็ นั่นย่อมทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าจุดดับคือบริเวณสนามแม่เหล็กถูกบิดโค้ง อุณหภูมิต่ำกว่าผิวดวงอาทิตย์โดยรอบจึงมองดูเหมือนว่ามันมีสีดำ
แม้ว่าขณะนี้ดวงอาทิตย์จะอยู่ในช่วงที่เกิดกิจกรรมบนผิวดาวต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี ด้วยปริมาณจุดดับที่เกิดได้น้อยและการประทุที่ไม่บ่อยครั้งนัก แต่การประทุแต่ละครั้งก็รุนแรงไม่แพ้ในช่วงที่ดวงอาทิตย์คึกคักที่สุดเช่นกัน
การประทุครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษนี้คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 ด้วยความรุนแรง X-40 เกิดที่ขอบดวงอาทิตย์และส่งผลกระทบน้อยนิดต่อโลกเช่นกัน เป็นที่น่าเสียดายว่ากล้อง SOHO อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้พลาดการเก็บ
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..........................................................
แสงอาทิตย์ยุคแรกกำเนิดโมเลกุลอันซับซ้อน
Proto-Sunshine at Work
September 12th, 2005
ที่มา : www.skyandtelescope.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีภายในหินอุกกาบาตโบราณ นักวิทยาศาสตร์พบว่าก๊าซที่รวมตัวกันเป็นดวงอาทิตย์นั้นส่องสว่างมานานกว่า 4.5 พันล้านปีแล้ว จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในมวลสารของระบบสุริยะ
http://faculty.fortlewis.edu/tyler_c/classes/206/notes3.htm
แสดงการคือกำเนิดของดาวอาทิตย์ตามแนวคิดที่สอง ดวงอาทิตย์ส่องสว่างที่ดาวเคราะห์จะก่อตัวสมบูรณ์
นักดาราศาสตร์คิดว่าดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ รวมถึงดาวเคราะห์น้อย ต่างก็กำเนิดมาจากแผ่นจานก๊าซที่หมุนวน หรือรู้จักกันดีในนาม Solar Nebula โชคไม่ช่วยนักดาราศาสตร์ตรงที่พวกเขารู้เรื่องราวในยุคนั้นน้อยมาก สสารในยุคนั้นต่างถูกหลอมละลายสลับกับควบแน่นเป็นของแข็งหลายต่อหลายครั้งจนแทบไม่เหลือหลักฐานบอกใบ้ตกมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม Vinai K. Rai, Teresa L. Jackson และ Mark H. Thiemens นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก แถลงว่าพวกเขาสามารถถอดรหัสย้อนหาหลักฐานที่บ่งบอกสภาพระบบสุริยะในยุคปั่นป่วนนั้นได้ ด้วยการตรวจวัดปริมาณไอโซโทปทางเคมีซึ่งจะชี้บ่งถึงปริมาณการแผ่รังสีเหนือม่วง(อัลตราไวโอเลต) พวกเขาพบว่าในยุคนั้นดวงอาทิตย์แผ่รังสีเหนือม่วงไปทั่วปริมณฑล พร้อมทั้งปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูงไปตามลมสุริยะก่อนที่ดาวเคราะห์จะถือกำเนิดขึ้น
ภาพศิลป์แสดงดวงอาทิตย์กำลังแผ่รังสีเหนือม่วงไปทั่วไปบริเวณ รังสีดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในกลุ่มก๊าซรอบดวงอาทิตย์ที่จะกลายเป็นดาวเคราะห์ ดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์น้อย Credits: NASA
มีสองเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ หนึ่ง ดวงอาทิตย์เกิดก่อนแต่ยังไม่สมบูรณ์จากนั้นดาวเคราะห์จึงเกิดตามมาและเสร็จสมบูรณ์ก่อนดวงอาทิตย์จะส่องสว่าง สองคือดวงอาทิตย์กำเนิดแล้วส่องสว่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วดาวเคราะห์จึงเกิดตามมาภายหลัง ในกรณีหลังนั้นดวงอาทิตย์สามารถแผ่รังสีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในระบบสุริยะได้แล้ว ผลจากกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดโมเลกุลที่ซับซ้อนรวมไปถึง โมเลกุลอินทรีย์ด้วย
ในเนบิวลา Trapezium แห่งกลุ่มดาวนายพราน (Orion) เป็นแหล่งที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่อยู่นับไม่ถ้วน ที่กำลังแผ่รังสีมาเผาไหม้อะตอมหรือโมเลกุลก๊าซเช่นเดียวกับในระบบสุริยะยุคเริ่มต้น Credits : John Bally et al. and NASA
นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่าปริมาณไอโซโทป ซัลเฟอร์(กำมะถัน) 33 สามารถชี้บ่งความเข้มของรังสีเหนือม่วง รวมไปถึงอนุภาคในลมสุริยะได้ และนอกจากดวงอาทิตย์ของเราเองนั้น การแผ่รังสีจากดาวฤกษ์เพื่อบ้านที่มวลมากๆ ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในระบบสุริยะยุคแรกเช่นกัน
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
........................................................
นักล่าซูเปอร์โนวาระดับแชมป์พบ ซูเปอร์โนวาลำดับที่ 40 ของตัวเอง
Supernova Champ Makes 40th Find
September 9th, 2005
ที่มา : www.skyandtelescope
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
คืนวันที่ 4 สิงหาคม เดือนก่อน นักล่าซูเปอร์โนวาระดับตำนาน Robert O. Evans ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาลำดับที่ 40 ของตัวเอง
ในขั้นต้น Evans พบจุดสว่างที่คาดว่าน่าจะเป็นดาวฤกษ์ที่ค่าความสว่างอันดับที่ 14 ภาย ในดาราจักรแขนเกลียวแบบมีบาร์ NGC 1559 จากกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบนิวโตเนียนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่าย NGC 1559 ในคลังข้อมูลกลับไม่พบดาวดวงนี้ จึงเชื่อได้ว่ามันคือซูเปอร์โนวา
ซูเปอร์โนวา 2005df คือจุดสว่างด้านบนดาราจักร NGC 1559 (ใต้แถบสีเหลือง) ดาราจักรดังกล่าวอยู่ใกล้กับดาราจักรเมฆแมกเจลเลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) NGC1559 มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 10,000 ล้านดวง ห่างจากโลก 50 ล้านปีแสง ภาพนี้เป็นการรวมภาพถ่าย จากกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 8.2 เมตร ณ ESO Courtesy European Southern Observatory
Evans ค้นพบซูเปอร์โนวานี้จากภายในสวนหลังบ้านของเขาเอง ใน Hazelbrook มลรัฐ New South Wales ซึ่งห่างจากเมือง Sydney ไปทางตะวันตกเพียง 100 กิโลเมตร
กลวิธีในการค้นหาซูเปอร์โนวาของเขาก็คือการบันทึกภาพดาราจักรและเทหวัตถุข้างเคียงที่ความสว่างต่ำสุด ณ ค่าความสว่างลำดับที่ 15 (สำหรับค่าความสว่างตัวเลขมากยิ่งแสงริบหรี่ นั่นคือ ค่าความสว่างลำดับที่ -1 ย่อมสว่างกว่าความสว่างลำดับที่ 1 ) ดังนั้นเขาจึงสามารถตรวจสอบภาพการระเบิดของดาวฤกษ์ได้อย่างรวดเร็ว
NGC 1559 เมื่อครั้งยังไม่เกิดซูเปอร์โนวา SN2005df ในช่วงแสงขาว ความสว่างปรากฎ 10.4 เป็นดาราจักรแขนเกลียวหลวมแบบมีบาร์ (SBc) http://www.spiral-galaxies.com/Galaxies-Reticulum.html
Evans เริ่มรายงานการค้นพบอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2524 จวบจนปัจจุบันเขารายงานการเกิดซูเปอร์โนวามาครบ 40 แห่ง 10 แห่ง มาจากกล้องสะท้อนแสงขนาด 10 นิ้ว 18 แห่ง จากกล้องขนาด 16 นิ้ว 3 แห่ง จากกล้องขนาด 40 นิ้ว ที่หอสังเกตการณ์ Siding Spring ที่เหลือจากกล้อง 12 นิ้ว
นอกเหนือจากนี้ Evans ยังพบซูเปอร์โนวาเกินกว่า 5 แห่ง กับดาวหางอีกหนึ่งดวงอีกด้วย โดย 4 ซูเปอร์โนวา กับ 1 ดาวหาง จากภาพถ่ายของ UK Schmidt และ หนึ่งซูเปอร์โนวาจากภาพถ่ายของ ESO Red Survey อังเป็นความร่วมมือระหว่างนักดาราศาสตร์สมัครเล่นกับมืออาชีพ
Robert O. Evans กับกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 12 นิ้ว
Courtesy Michael Schwartz / Tenagra Observatories, Ltd
SN 2005df เป็นซูเปอร์โนวาชนิด Type Ia เนื่องจากภายในเวลาไม่กี่วันมันเพิ่มความสว่างจนถึงค่าสูงสุด ซูเปอร์โนวาชนิด Ia เกิดจากการระเบิดภายในระบบดาวคู่แบบใกล้ชิดซึ่งหนึ่งในสมาชิกนั้นเป็นดาวแคระขาวที่ดูดกลืนเอามวลจากคู่หูของมันจนกระทั่งถึงค่ามวลวิกฤติ ยังผลให้เกิดความไม่เสถียรดาวแคระขาวนั้นจึงยุบตัว แล้วระเบิดออกมาเป็นซูเปอร์โนวา
ในวันที่ 6 สิงหาคม เพียงสองคืนจากการค้นพบโดย Evan Dietrich Baade และ Ferdinando Patat (หอสังเกตการณ์ซีกโลกใต้แห่งยุโรป) Lifan Wang (ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Berkeley) และทีมงาน ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 8.2 เมตร ณ หอสังเกตการณ์ซีกโลกใต้แห่งยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ที่ Cerro Paranal ประเทศชิลี ทำการตรวจวัด Polarization จากแสงของ SN2005df การวิเคราะห์ขั้นต้นพบว่าการขยายตัวของจุดแสงไม่สมมาตร(ไม่เป็นทรงกลม) ซึ่งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวัดระยะทางเชิงเอกภพวิทยา
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.................................................................
ตะลึง!! จำนวนดาวแคระน้ำตาลในทางช้างเผือกมีถึง แสนล้านดวง
100 Billion Brown dwarfs
September 9th, 2005
ที่มา : www.astronomy.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
หลังจากตามหากันมาหลายทศวรรษ นักดาราศาสตร์พึ่งนิยาม ดาวแคระน้ำตาล ได้เมื่อ 10 ที่แล้ว ขณะนี้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ผลออกมาว่าภายในดาราจักรทางช้างเผือกของเรามีดาวฤกษ์ซึ่งล้มเหลวในการจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นดาวฤกษ์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทั่วไป สร้างพลังงานได้ด้วยตนเองโดยการเปลี่ยนนิวเคลียสอะตอมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม ในทางตรงกันข้ามดาวแคระน้ำตาลนั้นมีมวลน้อยกว่าร้อยละ 8 ของมวลดวงอาทิตย์ พวกมันจึงไม่สามารถเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ดังกล่าวได้ มีแต่เพียงการเปลี่ยนพลังงานอันเนื่องมาจากความโน้มถ่วงไปเป็นความร้อน แล้วเรืองแสงสีแดงจนกระทั่งเย็นลงเรื่อยๆ ตัวอย่างดาวแคระน้ำตาลที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ดาวพฤหัสบดี นั่นเอง
ดาวแคระน้ำตาลหลายดวงอาจอยู่ใกล้โลกมากว่าระบบนี้ ซึ่งโคจรรอบ Epsilon Indi ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 11.8 ปีแสง Gemini Observatory / AURA
Russel Ryan, Jrl, Nimish Hathi, Seth Cohen และ Rogier Windhorst แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล ในช่วงรังสีใต้แดงความยาวคลื่นสั้น (Near-infrared) เพื่อค้นหาดาวแคระน้ำตาลภายใน 15 ทิศทาง ทั้งเหนือและใต้ระนาบทางช้างเผือก แล้วพบดาวอับแสงจำนวน 28 ดวง ซึ่งมีสีแดงและมีชนิดสเปคตรัม L และ T มีความสว่างเป็นลำดับโชติมาตรที่ 21 ถึง 25
แสดงองค์ประกอบของทางช้างเผือก จากภาพจะเห็นว่า Thin Disk อยู่ถัดออกมาจาก Thick Disk ในบริเวณแขนเกลียว http://www.usd.edu/phys/courses/phys187/notes/milkyway/milkyway.htm
ดาวแคระน้ำตาลเป็นสมาชิกของ Thin Disk เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์เพื่อนบ้าน Thin Disk มีความหนา 2000 ปีแสง วางตัวอยู่เหนือและใต้ระนาบทางช้างเผือกไม่มานัก สำหรับดาวแคระน้ำตาลคาดว่าอยู่ในบริเวณ Disk ที่มีความหนา 2,280± 330 ปีแสง
สเปคตรัมของดาวแคระน้ำตาล GI570D (สีม่วง) และดาวแคระแดง Wolf 359 (สีแดง) จะเห็นว่าสเปคตรัมจากดาวสามารถบ่งชี้ชนิดและก๊าซองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวได้ http://www.astro.ucla.edu/~irlab/ImageGallery.html
การสำรวจประชากรดาวแคระน้ำตาลโดย Ryan และชาวคณะ ดาวแคระชนิดสเปคตรัม L และ T ประมาณอย่างหยาบๆ มีจำนวนถึง 100 พันล้านดวง ซึ่งเทียบได้กับดาวฤกษ์ทั้งหมดภายในทางช้างเผือก
แม้จะเป็นจำนวนที่น่าประทับใจยิ่ง ทว่าดาวแคระน้ำตาลทั้งแสนล้านดวงนี้ก็ไม่ได้ทำให้มวลรวมของดาราจักรทางช้างเผือกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงไม่อาจนับพวกมันเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สสารมืด (Dark Matter) กลุ่มวิจัยของ Ryan ประมาณการว่าดาวแคระน้ำตาลทั้งหมดมีมวลรวมเท่ากับดวงอาทิตย์ 1 พันล้านดวง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของมวลดาราจักร อย่างไรก็ตามดาราจักรของเรามีมวลนับ ล้านล้านล้าน เท่าของดวงอาทิตย์ และส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสสารมืด
Ryan และทีมงานกำลังจะตีพิมพ์งานของพวกเขาในนิตยสาร Astrophysical Journal Letters
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.........................................................
มังกรบนฟากฟ้า
Dragon in the Sky
September 5th, 2005
ที่มา www.skyandtelescope.com
http://www.gemini.edu
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
เนบิวลาที่รู้จักกันแพร่หลายอย่าง เนบิวลาอเมริกาเหนือ (North America : NGC7000) และเนบิวลาหงส์ (Swan : M17) ได้รับการขานนามตามลักษณะรูปร่างที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่มันได้รับชื่อ ด้วยประเพณีการตั้งชื่อดังกล่าวนักดาราศาสตร์ทั้งหลายจึงพร้อมใจกันเรียก NGC6559 แห่งกลุ่มดาวราศีธนู (Sagittarius) ว่า เนบิวลามังกร (Dragon Nebula)
NGC 7000 หรือ เนบิวลาอเมริกาเหนือ ภาพนี้ถ่ายผ่านแผ่นกรองแสงช่วงความยาวคลื่นสเปคตรัม H-Alpha Credits : http://www.ngc7000.org/ccd/bn-ngc7000.html
เนบิวลาหงส์ อยู่ในกลุ่มดาวราศีธนู (Sagittarius) ภาพนี้ถ่ายในช่วงคลื่นที่ก๊าซไฮโดรเจนซึ่งถูกไอออไนซ์ (H II) โดยรังสีเหนือม่วง (Ultraviolet) จากดาวฤกษ์รุ่นใหม่ อุณหภูมิสูง เบื้องหลัง กลุ่มเมฆนี้ดูคล้ายหงส์ที่กำลังลอยบนผิวน้ำ โดยดาวฤกษ์สว่างด้านซ้ายบนของกลุ่มเมฆดูเหมือนตาของหงส์นั่นเอง ส่วนลำตัวทอดแทยงจากมุมซ้ายล่างขึ้นมาด้านขวาบน
เนบิวลามังกร NGC6559 Courtesy Gemini Observatory.
ภาพถ่ายเนบิวลามังกรนี้ บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ Gemini South Telescope ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม และถ่ายผ่านแผ่นกรองแสงสีช่วงความยาวคลื่น สีน้ำเงิน(Filter g) สีเขียว (Filter R) สีเหลือง(Filter I ) และสีแดง(Filter H-Alpha) ด้วยระยะเวลาเปิดหน้ากล้องรับแสง 480, 480, 480 และ 1,200 วินาที ตามลำดับ แล้วนำมารวมกันเป็นภาพเดียว ครอบคลุมพื้นที่ 5.5 x 4.1 ตารางลิปดา โดยทิศเหนือคือด้านซ้ายมือ แสดงเส้นสายของกลุ่มเมฆฝุ่นอุณหภูมิต่ำ สีดำสนิท ที่บดบังแสงดาวเบื้องหลังไว้ราวกับภาพเงา (Silhouetted) ของเทพมังกรจีนอันน่าเกรงขาม
เริ่มจากส่วนหัวด้านมุมซ้ายบน แล้วทอดตัวลงมาทางมุมขวาล่างเป็นระยะประมาณ 7 ปีแสง แสงเรืองสีแดงด้านหลังของ NGC6559 คือบริเวณที่มีการก่อกำเนิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งห่างจากโลกออกไป 5000 ปีแสง ในภายทิศทางศูนย์กลางดาราจักรทางช้างเผือก
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...........................................................
หลักฐานชี้ดาวฤกษ์มวลมากเกิดแบบเดียวกับดาวมวลน้อย
Massive Star in the Making
September 5th, 2005
ที่มา : www.skyandtelescope.com
www.space.com : Star birth Reconsidered
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ซ้าย : ภาพศิลป์แสดงกลุ่มก๊าซที่หมุนเป็นวนรอบแกน Protostar ก่อนตกไปรวมกับ Protostar และลำก๊าซที่ถูกพ่นออกมาจากแกนหมุนทั้งสองทิศทาง ขวา : ภาพถ่ายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความยาวคลื่นระดับ Submillimeter ของ Protostar มวลมาก ในกลุ่มดาว Cepheus แสดงหลักฐานของจานก๊าซและลำก๊าซที่ถูกพ่นออกมา(เส้นโครงร่างสีน้ำเงิน จากคลื่นวิทยุ) ที่ชี้ว่าดาวฤกษ์มวลมากสร้างตัวจากแผ่นจานก๊าซเช่นเดียวกัน Artwork courtesy David Aguilar (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics). Data graphic courtesy Nimesh A. Patel (Harvard-Smithsonian) and Nature.
หลังจากพยายามมากว่า 10 ปี นักดาราศาสตร์ก็ทราบแล้วว่าดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์มีกำเนิดมาอย่างไร ภายในจานคล้าย แพนเค้ก ของธุลีและก๊าซ ที่เรียกว่า Accretion Disk ดาวฤกษ์ค่อยๆ เติมโตภายใน ขณะที่ลำมวลสารถูกพ่นออกมาตามแกนหมุนทั้งสองทิศทาง โดยเพิกเฉยต่อแรงหนีศูนย์กลางซึ่งควรจะเป็นแรงที่ป้องกันการรวมตัวของก๊าซสู่ดาวฤกษ์ที่ศูนย์กลางจานฝุ่น อย่างไรก็ดีหลักฐานทั้งหมดจากภาพถ่ายโดยกล้องฮับเบิลยืนยันแนวคิดนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับที่มาที่ไปของดาวฤกษ์มวลมากอย่างน้อย 8 เท่าของมวลดวงอาทิตย์นั้นยังคงเป็นปริศนาประการหนึ่ง เนื่องจากดาวฤกษ์ลักษณะนี้หาได้ยาก และมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ตามทฤษฎีแล้วเมื่อแสงความเข้มและพลังงานสูงจาก protostar จะยับยั้งไม่ให้มวลสารจากจานฝุ่นตกลงไปอีก ทำให้แบบจำลองจานฝุ่นไม่สามารถอธิบายการกำเนิดของดาวฤกษ์มวลมากได้ ดังนั้นจึงเกิดข้อสันนิษฐานว่าดาวฤกษ์มวลมากเกิดจากการรวมตัวของดาวฤกษ์ขนาดเล็กหลายๆ ดวง
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Submillimeter ณ ยอดเขา Mauna Kea ในฮาวาย ทำการรวบรวมสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงระหว่างคลื่นวิทยุและรังสีใต้แดงจากฝุ่นและสารประกอบเคมีในแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ Courtesy Jonathan Weintroub and the Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics.
อย่างไรก็ตามเมื่อใช้กลุ่มกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Submillimeter Array ณ เทือกเขา Mauna Kea นักดาราศาสตร์พบหลักฐานที่ช่วยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าดาวฤกษ์มวลมากมีกำเนิดมากจาก Accretion Disk เช่นกัน ดังรายงานในนิตยสาร Nature ฉบับวันที่ 1 กันยายน โดย Nemesh A. Patel, Salvador Curiel, T. K. Sridharan จากศูนย์ดาราฟิสิกส์ Harvard-Smithsonian และผู้ร่วมงานอีกเจ็ดคน โดยศึกษาระบบดาว Cepheus A HW2 อันเป็น protostar ที่มีมวล 15 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ที่ถูกล้อมรอบด้วยฝุ่นและก๊าซจำนวนมหาศาล
ก่อนหน้านี้เครือข่าย MERLING ได้ทำการศึกษา MASER จากระบบดาวนี้และได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของสัญญาณ MASER ที่ได้ การศึกษาครั้งนั้นพบว่าสัญญาณ MASER นี้ชื่อว่านี่เป็นระบบ Protostar (After Gallimore et al. 2002, astro-ph/0211462).
ก่อนหน้านี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Very Large Array ได้สัญญาณของลำก๊าซร้อนที่ถูกพ่นออกมาตามแกนหมุนของ protostar ใน Cepheus A HW2 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็น เมฆก๊าซที่หมุนจนเป็นจานฝุ่นและก๊าซที่ถูกพ่นออกมาเป็นลำ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าทฤษฎี Accretion Disk สามารถใช้ได้กับการสร้างดาวเคราะห์มวลมาก Barbara A. Whitney ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำเนิดกาวฤกษ์ แห่งสถาบัน Space Science หนึ่งสมาชิกของ Patel
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...........................................................
แหล่งกำเนิด Cosmic Dust
Source of Cosmic Dust Found
September 2, 2005
ที่มา www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
นักวิจัยพบว่าสามารถบ่งชี้แหล่งกำเนิดของ Cosmic Dust ซึ่งถูกส่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งก็คือ Meteoroids นั่นเอง นอกจากนี้ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ยังแสดงให้เห็นว่าขนาดของธุลีฝุ่นที่เกิดตามเส้นทางที่ Meteoroid เคลื่อนผ่านนั้นใหญ่กว่าที่เคยเชื่อกัน
Cosmic Dust Grain จากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ขนาดน้อยกว่า 100 ไมครอน Credit : Photograph and caption, NASA.
Meteoroid คือเศษหิน ขนาดตั้งแต่เท่าทรายจนถึงกรวดแม่น้ำที่บินว่อนไปทั่วระบบสุริยะ บางก้อนก็ตัดเข้ามาในวงโคจรของโลกและแทรกผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศปรากฏเป็นเส้นสว่างบนฟ้าที่เรียกว่า ดาวตก(Shooting Star) ซึ่งตามติดด้วยเมฆฝุ่นอนุภาค (Cosmic Dust)
นานมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าอนุภาคเหล่านี้ควรมีขนาดไม่กี่นาโนเมตร ทว่า Andrew Klekociuk แห่ง Australian Antarctic Division และทีมงานได้ศึกษาเมฆฝุ่นอันเกิดจาก Meteoroid ขนาดใหญ่ แล้วพบว่าอนุภาคฝุ่นเหล่านี้มีขนาด 10 -20 ไมครอน ซึ่งใหญ่กว่าที่เคยเชื่อกันนับพันเท่า
Cosmic Dust รูปทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 ไมครอน Courtesy of Don Brownlee (University of Washington)
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปีที่แล้ว อุกกาบาตขนาดใหญ่ประมาณการมวลตั้งต้นไว้ที่ 1 ล้าน กิโลกรัม พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลก พร้อมทั้งปลดปล่อยพลังงานมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ 14 กิโลตัน ไม่เพียงแต่เส้นแสงสว่างขณะที่มันผ่านชั้นบรรยากาศแต่มันยังทิ้งเมฆควันหรือฝุ่นไว้เป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าตั้งแต่ระดับความสูง 18 56 กิโลเมตร และยังคงอยู่ในสภาพเมฆฝุ่นนั้นนานนับสัปดาห์
ยังมีความไม่แน่นอนในจำนวนมวลสารของ Meteoroid เหล่านั้นที่ผ่นเข้ามาในโลก บางทีอาจจะ 40 ±20 พันตันต่อปี Kleociuk กล่าวกับทีมข่าว Space.com เหตุการณ์ที่เราศึกษานี้ใช้ตัวอย่างมวลขนาด 1 พันตัน
ในการคำนวณขนาดของอนุภาคฝุ่น Klekociuk และทีมวิจัย ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Light Detetion and Ranging (LIDAR) ซึ่งทำงานเหมือนกับ Radar เพียงแต่ทำงานในช่วงคลื่นแสงไม่ใช่คลื่นวิทยุอย่าง Radar
ฝนดาวตก Perseid เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ดาวตกเหล่านี้ก็เป็นแหล่งกำเนิดของ Cosmic Dust เช่นกัน
ด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้พวกเขาสามารถวัดขนาดและรูปร่างของอนุภาคฝุ่นโดยศึกษาจากการกระเจิงและโพลาไรซ์แสงจากลำแสงเลเซอร์ ผลการสังเกตการณ์นี้เข้ากันได้พอดีกับแบบจำลองทางทฤษฎีสำหรับอนุภาคต่างขนาด รูปร่าง และองค์ประกอบทางเคมี
รายละเอียดงานวิจัยนี้สามารถติดตามได้ในนิตยสาร Nature ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้
ก่อนหน้านี้เป็นที่เชื่อกันว่าอนุภาคฝุ่นขนาดใหญ่จาก Meteoroids นั้นเกิดมาจากการรวมตัวของอนุภาคในก้อนเมฆเป็นเวลานานนับสัปดาห์ อย่างไรก็ดีงานวิจัยชิ้นล่า บอกว่าอนุภาคฝุ่นเหล่านี้ใหญ่มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ในกรณีของเรา ขนาดของอนุภาคที่หลงเหลืออยู่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกิดจากวิธีการธรรมดาๆ อย่างการควบแน่นหรือหลอมรวม Klekociuk อธิบาย
โดยสัมพันธ์กับขนาดและจำนวนรวม Cosmic Dust กับอนุภาคในชั้นบรรยากาศมีศักยภาพมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพอุตุนิยมวิทยาของโลก พวกมันสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้โลกเย็นลง หรือแม้แต่ดูดกลืนแสงอาทิตย์จนโลกอุ่นขึ้นก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เกิดเมฆฝนได้อีกด้วย
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
..................................................................
ร่องรอยสายน้ำบนดาวอังคาร
Water Flowed Recently on Mars
September 2, 2005
ที่มา www.space.com
Stardust Eyes in The City of Angel รายงาน
ภาพถ่ายจากยาน Mars Global Surveyor แสดงร่องรอยลำธารสายน้อยๆ อันเนื่องมาจากระแสน้ำ และเป็นจุดที่น่าสนใจในการค้นหาสิ่งมีชีวิต ปัญหาก็คือร่องรอยนี้เกิดขึ้นมานานเท่าใดแล้ว และหากมันเกิดเมื่อเมื่อไม่นานมานี้ ก็จะมีคำถามว่าทำไมน้ำบนดาวอังคารจึงอยู่ในสภาพของเหลวได้นานพอที่จะทำให้เกิดร่องรอยดังกล่าว ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์รายงานว่ามีน้ำในรูปน้ำแข็งอยู่มากมายบนดาวอังคารทั้งที่ขั้วดาว และใต้ผิวดาว
ร่องรอยบนดาวอังคารซึ่งดูเหมือนว่าจะเกิดจากการไหลของน้ำเมื่อไม่นานมานี้ Credit : NASA
น้ำถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการสร้างชีวิต ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าอาจมีบางสิ่งหลบซ่อนอยู่ใต้ผิวดาวที่ซึ่งน้ำแข็งใต้ผิวดาวละลายเป็นของเหลว
งานวิจัยใหม่ๆ ด้วยการจำลองทฤษฎีโดยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่าน้ำบนดาวอังคารสามารถอยู่ในสภาพฟองน้ำบนผิวดาว จากนั้นก็ไหลเป็นระยะสั้นๆ ก่อนระเหยไปในชั้นบรรยากาศที่เบาบางและเยือกเย็น
ภาพจำลองเหตุการณ์หากมนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคาร ก็จะใช้อุปกรณ์ขุดเจาะเพื่อหาน้ำใต้ดิน
Image Credit: John Frassanito and Associates
ร่องรอยดังกล่าวบ่งบอกว่าปัจจุบันบนดาวอังคารมีน้ำใกล้ผิวดิน และจึงน่าสนใจสำหรับการสำรวจด้านดาราชีววิทยา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต Jennifer Heldmann หัวหน้านักวิจัยจากศูนย์วิจัย Ames ของนาซา อธิบาย ลำธารดังกล่าวย่อมมีความสำคัญในการสำรวจโดยมนุษย์เนื่องจากมันเป็นบริเวณที่เชื่อถือได้ว่าอาจมีใต้ผิวดินในสถานะของเหลว ซึ่งสามารถเจาะลงไปสำรวจได้
ในการที่จะนำมนุษย์ขึ้นไปอาศัยระยะยาวอย่างมีศักยภาพจะเป็นต้องมีแหล่งน้ำสำหรับดื่มและแยกออกเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อเดินทางกลับ
เปรียบเทียบร่องรอยบนดาวอังคารกับร่องรอยบนโลก Images Credit: NASA/JPL/Malin Space Science Systems
ถ้าน้ำในสถานะของเหลวสามารถโผล่ขึ้นมาบนผิวดาวอังคาร มันจะสามารถไหลเป็นทางได้ 500 เมตร Heldmann อธิบาย เราพบว่าร่องรอยดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่น้ำถูกแช่แข็งทันทีทันใด จากนั้นระเหยอย่างรวดเร็วจนมีสภาพใกล้เคียงของเหลวบริสุทธิ์
ในอากาศความดันต่ำบนดาวอังคาร น้ำสามารถเดือดได้ภายในชั่วพริบตา จึงเป็นที่น่ากังขาว่าร่องรอยดังกล่าวอาจเกิดจากธารน้ำแข็งก็ได้
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.......................................................................
[home] [about us] [staff members] [alumni] [news] [articles & presentations] [research papers] [Princess Sirindhorn neutron monitor] [FAQs] [glossary] [links] [contact us] [academic activities]