ข่าวด้านอวกาศ และดาราศาสตร์
เดือนกุมภาพันธ์ 49
ผลวิเคราะห์จากปฏิบัติการ Deep Impact น้ำแข็งบนผิวดาวหาง
Water Ice Detected on Comet’s Surface
February 20th, 2006
ที่มา www.space.com
Stardust Eye
นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานพอสมควรแล้วว่าองค์ประกอบหลักของดาวหางคือน้ำแข็ง แต่พวกเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าน้ำแข็งเหล่านั้นบรรจุอยู่ภายในหรือว่าเพียงแค่อยู่บนผิวเท่านั้น ผลการวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดจากปฏิบัติการ Deep Impact เมื่อปีก่อน ทำให้พบหลักฐานสำคัญที่ว่า น้ำแข็งสามารถอยู่บนด้านนอกของดาวหางได้
พื้นที่สีฟ้าเล็กๆ สามแห่งที่คาดว่าเป็นน้ำแข็งบนดาวหาง Tempel 1 Photo credit: NASA.
ในผลงานวิจัยล่าสุด นักวิจัยรายงานว่าผิวของดาวหาง Tempel 1 ซึ่งเป็นเป้ายิงของยาน Deep Impact บริเวณที่คาดว่าเป็นผิวน้ำแข็งจำนวน 3 แห่ง ดาวหาง Tempel 1 มีพื้นที่ผิวประมาณ 45 ตารางไมล์ หรือ 1200 ล้านตารางฟุต ซึ่งปกคลุมด้วยน้ำแข็งเพียง 300,000 ตารางฟุต ส่วนที่เหลือคือฝุ่น “มันดูเหมือนลานสเก็ตที่เต็มไปด้วยหิมะเปื้อนฝุ่น” Peter Shultz จากมหาวิทยาลัย Brown ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิจัย เปรียบเทียบ
แสดงอุณหภูมิพื้นผิวของ Tempel 1 ก่อนถูกชนด้วยยาน Impactor จะเห็นว่าด้านสีแดง(อุณหภูมิสูง)
คือบริเวณที่ถูกแสดงอาทิตย์ Photo Credit: NASA/JPL/UMD
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม องค์การนาซาส่งหัวสำรวจซึ่งทำจากทองแดง ชื่อว่า Impactor อันเป็นยานย่อยที่แยกออกมาจากยานแม่ประจำโครงการ Deep Impact เข้าชนผิวดาวหาง Tempel 1 ที่ระยะห่าง 83 ล้านไมล์จากโลก ผลจากการชนครั้งดังกล่าวทำให้เกิดหลุมขนาดเท่าสนามกีฬา และเศษฝุ่นผง หิน ดิน กระจายออกสู่อวกาศเป็นมวลหลายตัน ส่วนยานแม่มีชื่อว่า Flyby ทำหน้าที่บันทึกภาพและข้อมูล ส่งกลับมายังโลก
ลำดับการปะทะระหว่างยาน Impactor กับ ดาวหาง Tempel 1 ก่อให้เกิดแสดงสว่างวาบ
และสสารจากผิวดาวหางกระจายออกมาจากผิวดาว Credit: NASA/JPL/UMd
นักวิจัยเชื่อว่าผิวน้ำแข็งของ Tempel 1 เคยอยู่ด้านในมาก่อนแล้วค่อยๆ ถูกเปิดหน้าดินออกมาให้เห็นเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าน้ำแข็งถูกปล่อยออกมาจากการพ่นเอาฝุ่นและไอน้ำออกมาที่เรียกว่า Jet ของดาวหางอีกด้วย ผลึกน้ำแข็งที่ถูกพ่นออกมาจะเรืองแสง และเป็นกลุ่มเมฆสสารที่ล้อมรอบตัวดาวหาง หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของหางนั่นเอง
ทีมวิจัยดังกล่าวเคยรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบภายในของ Tempel 1 ไว้ว่าเต็มไปด้วยอินทรีย์สาร และสันนิษฐานว่าดาวหางอาจมีแหล่งกำเนิดในบริเวณที่ใกล้เคียงวงโคจรดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...................................................................
ชื่อจันทร์เพ็ญ ของชาวอินเดียนแดง ตอนที่ 1
Full Moon Names for 2006 I
February 16th, 2006
ที่มา www.space.com
Stardust Eye
ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือมีชื่อสำหรับเรียกขานดวงจันทร์วันเพ็ญตลอดปี มานานนับร้อยๆ ปี ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล แม้ว่าจะมีความหลากหลายของชื่อจันทร์เพ็ญของแต่ละเผ่า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ภาษาอินเดียนแดงตระกูล Algoquin บริเวณนิวอิงแลนด์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ Lake Superior ส่วนผู้ตั้งรกรากจากยุโรปยุคแรก ยึดถือเอาประเพณีและให้ชื่อดวงจันทร์วันเพ็ญของตัวเอง นับแต่เดือนซีนอร์ดิค (synodic) (เดือนที่ดวงจันทร์โคจรครบรอบโลกหนึ่งรอบเมื่อเทียบกับโลก) ของดวงจันทร์กินเวลาประมาณ 29.5 วัน วันของจันทร์เพ็ญจึงเลื่อนไปเลื่อนมาเทียบกับปีฤดูกาล ต่อไปนี้คือชื่อจันทร์เพ็ญตลอดปี
เฟสของดวงจันทร์แปรเปลี่ยนไปตามตำแหน่งของดวงจันทร์เมื่อเทียบกับโลกและดวงอาทิตย์ ในรอบ 29.5 วัน http://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/7/72/Lunar-Phase-Diagram.png
14 มกราคม 16:48 น. The Full Wolf Moon : ช่วงกลางฤดูหนาว ฝูงหมาป่าจะเห่าหอนอย่างหิวกระหายภายนอกหมู่บ้านชาวอินเดียน ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Moon after Yule” หรือจันทร์เพ็ญหลังวันคริสต์มาส บางเผ่าเรียกว่า Full Snow Moon แต่ส่วนมากจะเป็นชื่อของจันทร์เพ็ญครั้งถัดไป
ความแตกต่างระหว่างเดือน Synodic กับเดือน Sidereal มาจากการเคลื่อนที่ของโลกเทียบกับดวงอาทิตย์ เนื่องจาก โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ภายใน 365 วัน และช่วงห่างระหว่างจันทร์เพ็ญแต่ละครั้งคือ 29.5 วัน (Synodic month) ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองเกิน 360 องศา ส่วนเดือน Sidereal ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองครบรอบพอดี เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ไกลๆ คือ 27.3 วัน http://www.pfm.howard.edu/astronomy/Chaisson/AT401/HTML/AT40104.htm
13 กุมภาพันธ์ 11:44 น. The Full Snow Moon โดยทั่วไปหิมะที่ตกหนักที่สุดจะตกในเดือนนี้ การล่าสัตว์จะทำได้ยากขึ้น สำหรับอินเดียนบางเผ่าจะเรียกว่า The Full Hunger Moon หรือจันทร์เพ็ญอันหิวโหย
14 มีนาคม 18:35 น. The Full Worm Moon เดือนมีนาคมหิมะจะเริ่มละลายดินร่วนซุยทำให้หนอน หรือไส้เดือนดิน ปรากฏอีกครั้งพร้อมทั้งนกโรบิน อินเดียนซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือเรียกว่า the Full Crow Moon หรือจันทร์เพ็ญอีกา เมื่อเสียงของอีกาเป็นการบ่งบอกการสิ้นสุดของฤดูหนาว บ้างก็เรียกว่า the Full Crust Moon เพราะว่าหิมะจะละลายในยามกลางวันแต่จะกลับมาอีกครั้งในตอนกลางคืน นอกจากนี้ในวันดังกล่าวอาจเกิดจันทรุปราคาเงามัว เป็นเวลา 40 นาที ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตาและตาเปล่า
แสดงการเกิดจันทรุปราคา เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าเขตเงามืด และเงามัวของโลก http://enquirer.com/editions/2003/05/15/eclipse.jpg
14 เมษายน 12:40 น. The Full Pink Moon ดอกหญ้าสีชมพูหรือพืชคลุมดินป่าจะเติบโตและปรากฏทั่วไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิ บางแห่งก็เรียกว่า Sprouting Grass Moon ,The Egg Moon สำหรับอินเดียนที่ อยู่แถบชายฝั่งทะเลจะเรียกว่า Full Fish Moon เมื่อปลาเฮอริงว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ นอกจากนี้ก็เรียกว่า Paschal Full Moon ซึ่งเป็นจันทร์เพ็ญแรกของฤดูใบไม้ผลิ และวันอาทิตย์ถัดจาก Paschal Moon จะเป็น Easter Sunday ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...................................................................................
ชื่อจันทร์เพ็ญ ของชาวอินเดียนแดง ตอนที่ 2
Full Moon Names for 2006 II
February 16th, 2006
ที่มา www.space.com
Stardust Eye
3 พฤษภาคม 14:51 น. The Full Flower Moon จันทร์เพ็ญซึ่งตรงกับช่วงดอกไม้เบ่งบาน และเป็นฤดูของการเพาะปลูกจึงมีชื่ออื่นอีก Full Corn Planting Moon หรือ Milk Moon
12 มิถุนายน 2:03 น. The Full Strawberry Moon ใช้สำหรับเผ่าที่ใช้ภาษา Algonquin ส่วนชาวยุโรปเรียกว่า Rose Moon
11 กรกฎาคม 11:02 น. The Full Buck Moon ได้ชื่อตามเวลาที่เขาของกวางตัวผู้เริ่มงอก บางเผ่าก็เรียกว่า Full Thunder Moon เนื่องจากเป็นช่วงพายุฝนฟ้าคะนอง บางทีก็เรียกว่า Full Hay Moon
9 สิงหาคม 18:54 น. The Full Sturgeon Moon เมื่อปลาขนาดใหญ่ในทะเลสาบใหญ่ทั้งห้า และปลาอื่นๆ ถูกจับได้ในทะเลสาบดังกล่าว บางเผ่าเรียกว่า Full Red Moon เพราะดวงจันทร์จะดูสีแดงเป็นพิเศษเนื่องจากหมอกควัน
จันทรุปราคาบางส่วน ในวันที่ 7 กันยายน เวลา 18:00 ตามเวลามาตรฐานสากล http://sunearth.gsfc.nasa.gov/eclipse/LEplot/LEplot2001/LE2006Mar14N.GIF
8 กันยายน 2:42 The Full Corn Moon ช่วงเวลานี้ ข้าวโพดพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด (Perigee) ในเวลา 11:00 น. ที่ระยะ 357,175 กิโลเมตรจากโลก ซึ่งจะเป็นดวงจันทร์ที่สว่างและขนาดปรากฏใหญ่ที่สุด สำหรับปี 2549 นอกจากนี้ยังทำให้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงต่างกันมากที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาบางส่วน จากบริเวณทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันออก โดยช่วงที่มีการบังมากที่สุดคือเวลา 18:51 น. ตามเวลาสากล หรือ 0:51 น. คืนดังกล่าว
ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่สุด ณ ตำแหน่ง Perigee ทำให้ขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่ที่สุดในรอบ 29.5 วัน http://www.nmm.ac.uk/server/show/nav.00500300l005007002
7 ตุลาคม 11:13 น. The Full Harvest Moon เป็นจันทร์เพ็ญที่ใกล้กับวันสารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ที่สุด และใกล้กับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชผล
5 พฤศจิกายน 19:58 The Full Beaver Moon ช่วงนี้ตัวบีเวอร์กำลังทำเตรียมตัวสะสมอาหารและทำรังเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงชีพเมื่อฤดูหนาวมาเยือน
5 ธันวาคม 7:25 The Full Cold Moon สำหรับบางเผ่าเรียกว่า The Full Long Nights Moon อันเป็นคืนเต็มดวงที่ยาวนานที่สุด ในรอบปี บางครั้งก็เรียกว่า Moon before Yule หรือจันทร์เพ็ญก่อนวันคริสต์มาส
จะเห็นว่าชื่อของจันทร์เพ็ญตลอดปีของชาวอินเดียนแดงนั้น ล้วนสัมพันธ์กับปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งพวกเขาพบเห็นและยึดถือเป็นนาฬิกาบอกเวลา
นักดาราศาสตร์ชาวกรีก Meton (460 ปี ก่อนคริสตกาล) พบว่าทุกๆ 19 ปี เฟสของดวงจันทร์จะย้อนกลับมา ณ วันและเดือน เดิม ในปฏิทินสุริยคติ หรือคลาดเคลื่อนนิดหน่อย คาบเวลาดังกล่าวเรียกว่า คาบ Metonic ตัวอย่างเช่นจันทร์วันเพ็ญในวันที่ 11 กรกฎาคม 2549 สิบเก้าปีต่อไปคือ ปี 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม
จารึกโบราณ แสดงเฟสดวงจันทร์แต่ละวันและคาบ Metonic
จารึกนี้ถูกค้นพบที่ Parowan Gap ใน Iron County มลรัฐ Utah สหรัฐอเมริกา
ที่น่าสนใจคือ หลังจากนี้อีก 8 ปี เฟสของดวงจันทร์จะวนกลับมาในวันเดิมอีกครั้งแต่ อาจช้าไปบ้างหนึ่งถึงสองวัน ชาวกรีกเรียกวัฏจักร 8 ปี นี้ว่า octaeteris นั่นคือในปี 2557 จันทร์เพ็ญจะตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.....................................................................................
นยันดาวเคราะห์ดวงที่สิบ ใหญ่กว่าพลูโต
Study Confirms ‘10th Planet’ Indeed Larger than Pluto
February 9th, 2006
ที่มา www.space.com :
Stardust Eye
เทหวัตถุที่ถูกคาดว่าจะเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบ แห่งระบบสุริยะ และมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต ขณะนี้ได้รับการยืนยันขนาดที่แน่นอนแล้ววัตถุ 2003UB313 จะถูกนับเป็นดาวเคราะห์ เมื่อมันกลมและโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เพราะว่ามีวัตถุอื่นๆ ที่มีสมบัติแบบเดียวกันและขนาดใกล้เคียงดาวพลูโต นักดาราศาสตร์จึงต้องถกเถียงกันหลายทีเดียว ว่า นิยามของ ดาวเคราะห์ เป็นอย่างไรกันแน่ จนกว่าสมาพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ จะแถลงข้อสรุปออกมา
ภาพจำลองแสดงดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ซึ่งถูกค้นพบโดย Mike Brown จาก Caltech เมื่อ 29 กรกฎาคม 2548
Credit: NASA/JPL/Caltech
เส้นผ่านศูนย์กลางของ 2003UB313 ยังคงอยู่ที่ประมาณ 3,000 กิโลเมตร ขาดเกินไม่เกิน 300 กิโลเมตร ส่วนดาวพลูโตมีขนาดเพียง 2,300 กิโลเมตร เดิมทีขนาดวัตถุใหม่ดังกล่าวได้จากการประมาณความเข้มแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมา แต่นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวดาว ดังนั้นจึงยังไม่อาจมั่นใจได้ว่ามันสะท้อนแสงได้เป็นสัดส่วนเท่าใดต่อแสงที่ตกกระทบผิวดาว กระทั่ง Frank Bertoldi แห่งมหาวิทยาลัยบอนน์ ตรวจวัดการแผ่ความร้อนของ 2003UB313 แล้วคำนวณขนาดและอุณหภูมิพื้นผิวของมัน ซึ่งต้องใช้ระยะห่างจากดวงอาทิตย์เป็นข้อมูลเบื้องต้น โดยรายละเอียดตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ภาพเปรียบขนาดของเทหวัตถุซึ่งมีขนาดใกล้เคียง 2003UB313 Credit: Nature
“นับแต่ประมาณขนาดของ UB313 ไว้ใหญ่กว่าพลูโต ดูเหมือนว่าจะเป็นการยากที่จะถือว่าพลูโตเป็นดาวเคราะห์ ถ้า UB313 ได้รับสถานะดังกล่าวแทน” Bertoldi กล่าว แต่ 2003 UB313 มีวงโคจรที่ห่างไกล ยาวรีออกไปนอกแถบวัตถุแช่แข็ง Kuiper Belt เป็นระยะสองเท่าของระยะห่างจากพลูโตถึงดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์หลายคนชี้ว่าดาวพลูโตเป็นวัตถุในแถบ Kuiper ซึ่งไม่ควรจะนับเป็นดาวเคราะห์ด้วยซ้ำ
ดังนั้นหาก 2003 UB313 ถูกเรียกว่าดาวเคราะห์ ดังนั้นวัตถุในแถบ Kuiper ที่มีขนาดเท่ากันและถูกค้นพบไปแล้วกว่า 100 ดวง ก็จะต้องเรียกว่าดาวเคราะห์ด้วย อย่างเช่น Sedna (ขนาดสามในสี่ของพลูโต) 2004DW และ Quaoar
แสดงแถบ Kuiper เทียบกับดาวบริวารในระบบสุริยะ Credit : Nature
อย่างไรก็ตามยังมีเสียงหนึ่ง เสนอคำว่า “Dwarf Planets” Scott Sheppard จากสถาบันคาร์นีเกียแห่งวอชิงตันอธิบาย “ไม่ว่าเราจะใช้วิธีใดบรรจุพวกมันไว้ในบัญชีดาวเคราะห์อันเนื่องมาจากการวัดขนาด 2003 UB313 ก็จะไม่อาจมีดาวเคราะห์หลักเก้าดวงอีกต่อไป” นักดาราศาสตร์สามารถวัดเส้นผ่านศูนย์กลาง สัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงหรืออัลบีโด ในแถบวัตถุ Kuiper ได้แม่นยำขึ้น “ดูเหมือนว่าวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดก็จะสะท้อนแสงได้ดีที่สุด” Sheppard อธิบาย “เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของพวกมันมีอิทธิพลมากพอที่จะสร้างชั้นบรรยากาศและทำให้เกิดก๊าซที่ระเหิดได้ซึ่งช่วยให้ผิวดาวสะท้อนแสงได้ดีขึ้น”
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
....................................................................
เมื่อดาวฤกษ์ส่วนใหญ่หาใช่ดาวคู่ไม่
Astronomers Had it Wrong :Most Stars are Single
February 9th, 2006
ที่มา www.space.com :
Stardust Eye
กว่าสองร้อยปีมาแล้วที่นักดาราศาสตร์คิดว่าดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในดาราจักรทางช้างเผือกเป็นระบบดาวหลายดวง แต่ผลงานวิจัยใหม่ชี้ว่า ดาวฤกษ์เหล่านั้นล้วนเกิดมาอย่างโดดเดี่ยวและไม่เคยไปสมาคมดาวดาวฤกษ์อื่นใด นับแต่เมื่อนักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์สามารถเกิดรอบดาวฤกษ์เดี่ยวได้ง่ายกว่าในระบบดาวหลายดวง งานวิจัยนี้ย่อมแสดงว่าเราอาจพบดาวเคราะห์ได้ทั่วไป
ภาพจำลองแสดงดาวเคราะห์หินโคจรรอบดาวแคระแดง Credit : David A. Aguilar,CfA
นับแต่เรารู้จักระบบดาวคู่เป็นครั้งแรกเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ผลการวิจัยหลายชิ้นในศตวรรษที่ 20 ล้วนยืนยันจำนวนที่มากมายของระบบดาวคู่ได้เป็นอย่างดี งานสำรวจหลายชิ้นพบว่ากว่าครึ่งของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์อยู่ในระบบดาวหลายดวง สำหรับดาวฤกษ์ที่มีมวลกว่านั้นอย่างเช่น ดาวชนิดสเปคตรัม O และ B (ดาวฤกษ์อุณหภูมิสูง) มีจำนวนประมาณร้อยละ 80 ที่เหลือ อย่างดาว Polaris เป็นระบบดาวคู่ซึ่งมีอัตราส่วนน้อยกว่า
ถ้าหากเรามองไปบนท้องฟ้า ดาวทั้งหมดที่เห็นด้วยตาเปล่า ส่วนใหญ่เป็นดาวคู่ และเพราะว่าดาวสว่างเกือบทั้งหมดเป็นดาวคู่ ดังนั้นดาวฤกษ์แทบทั้งหมดจึงมีแนวโน้มจะเป็นดาวคู่ อย่างไรก็ตามดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในทางช้างเผือกไม่ได้สว่างเท่ากับดวงอาทิตย์ แต่ล้วนอับแสงและมีมวลน้อยกว่า หรือที่เราเรียกว่าดาวแคระแดง
ดาวแคระแดง Gliese 623b Credit : C.Barbieri (U. Padua) ,NASA/ESA
นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าดาวแคระแดงมีปริมาณร้อยละ 85 ของดาวทั้งหมดในดาราจักรทางช้างเผือก ดาวเหล่านี้มีมวลเพียงหนึ่งในห้าและสว่างเพียงหนึ่งในห้าสิบ ของดวงอาทิตย์เท่านั้น นอกจากนี้ดาวแคระแดงที่มีคู่หู มีเพียงร้อยละ 25 ของดาวแคระแดงทั้งหมด ด้วยเหตุนี้สองในสามของระบบดาวทั้งหมดในทางช้างเผือกเป็นดาวเดี่ยว
ผลสังเกตการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าทุกปีจะมีดาวฤกษ์ใหม่ประมาณ 6 ดวงเกิดในทางช้างเผือก แต่ส่วนใหญ่รายละเอียดยังคงคลุมเครือ อีกทั้งทฤษฎีกำเนิดดาวฤกษ์ที่ว่ากลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซในอวกาศยุบรวมกันด้วยแรงโน้มถ่วงจนกระทั่งแกนกลางหนาแน่นและอุณหภูมิสูงพอสำหรับกระตุ้นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันกลายเป็นดาวฤกษ์ ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมดาวฤกษ์ขนาดใหญ่จึงควรอยู่ในรูประบบพหุดารา
ลำดับการเกิดดาวฤกษ์ภายในกลุ่มเมฆก๊าซขนาดยักษ์และเต็มไปด้วยความปั่นป่วน credit : Matthew Bate
แนวคิดหนึ่งซึ่งได้จากการสังเกตการณ์บอกว่า กลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์มวลมากมีความปั่นป่วนมากกว่าในกลุ่มเมฆก๊าซขนาดเล็ก ซึ่งให้กำเนิดดาวแคระแดง และความปั่นป่วนนั้นเองทำให้ดาวฤกษ์มวลมากก่อตัวเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่
งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นข่าวดีสำหรับนักล่าดาวเคราะห์ แม้ว่างานหลายชิ้นอธิบายว่าดาวเคราะห์รอบระบบดาวคู่ก็สามารถเกิดได้เป็นปกติเช่นกัน แต่ดาวเคราะห์ในระบบดาวเดี่ยวก็ยังเกิดได้ง่ายกว่าอยู่ดี และหากงานนี้ไม่ถูกปฏิเสธไปแล้วล่ะก็เชื่อว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจะเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว อย่างเช่นการค้นพบที่ได้รับการยืนยันการมีอยู่ของ ดาวเคราะห์หินมวลมากกว่าโลก 5.5 เท่า รอบดาวแคระแดงที่ห่างออกไป 28,000 ปีแสง
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
............................................................................
ชวนกันดูดาวเคราะห์ในรอบปี 2549 ตอนที่ 1
The Planets in 2006 I
February 2nd, 2006
by Joe Rao
ที่มา www.space.com
Stardust Eye
ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ ปรากฎบนท้องฟ้ายามเย็นของฤดูหนาว ในต้นปี แต่จะเริ่มสังเกตได้ยากเมื่อ ดาวศุกร์จะตกจากฟ้าตามดวงอาทิตย์ได้เร็วขึ้น ในขณะที่ดาวอังคารจะหรี่แสงลง เมื่อมันเริ่มถอยห่างจากโลก เมื่ออากาศอุ่นขึ้นดาวเสาร์จะเริ่มปรากฎโดดเด่นบนท้องฟ้ายามเย็นในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับช่วงต้นของฤดูร้อน และจะถูกแทนที่ด้วยดาวพฤหัสบดีในช่วงกลางฤดูร้อนไปจึงกลางฤดูฝน ในขณะเดียวกันดาวพุธจะตัดผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในเดือนพฤศจิกายน และไปสังสรรค์กับดาวอังคารและดาวพฤหัสเป็นรูปสามเหลี่ยมในตอนย่ำรุ่งเดือนธันวาคมนี่ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ยุ่งยากสำหรับการดูดาวเคราะห์ แต่ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลย
ดาวพุธ : ปรากฏบนฟ้าหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ประมาณ 90 นาที เมื่อมองจากซีกเหนือของโลก ราวๆ วันที่ 10 ก.พ. ถึง 3 มี.ค.
แผนผังแสดงจุดบริเวณที่สามารถสังเกตดาวพุธตัดหน้าดวงอาทิตย์
http://sunearth.gsfc.nasa.gov/eclipse/OH/image1/TM2006Nov08-Fig1.GIF
8 พ.ย. ดาวพุธจะผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ปรากฎเป็นภาพเงาหรือจุดดำๆ บนดวงอาทิตย์เมื่อมองจากกล้องโทรทรรศน์(ที่ติดแผ่นกรองแสง) เหตุการณ์นี้สามารถเห็นได้ในประเทศแถบอเมริกา มหาสมุทรแปซิฟิค ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเอเชียตะวันออก
18 พ.ศ. ถึง 9 ธ.ค ดาวพุธจะขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ประมาณ 90 นาที โดยเฉพาะในวันที่ 19 พ.ย. ดาวพุธจะไปอยู่ทางเหนือของจันทร์เสี้ยวอีกครั้ง
แสดงตำแหน่ง inferior กับ superior conjunction ของดาวเคราะห์วงใน(พุธ ศุกร) และ conjunction กับ opposition
ของดาวเคราะห์วงนอก (ดาวอังคาร และถัดออกไป)
http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Positional_astronomy.png
ดาวศุกร์ : ต้นเดือนมกราคม จะอยู่ในตำแหน่งต่ำลงในยามเย็นทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือเรียกว่าดาวประจำเมือง เมื่อมันผ่านเข้าไปในตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ (inferior conjunction) ในวันที่ 13 ม.ค. เราจะเห็นดาวศุกร์ในท้องฟ้ายามเช้าแทนในฐานะดาวประกายพฤกษ์
ช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ เมื่อส่องดาวศุกร์ด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ก็จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวสวยงาม และปรากฏสว่างที่สุดในรุ่งอรุณวันที่ 17 กุมภาพันธ์ และเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์ในวันที่ 27 สิงหาคม ด้วยระยะห่างปรากฏครึ่งองศา
ดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยว
http://www.vt-2004.org/photos/vt-photos-page13.html
เราจะเห็นดาวศุกร์ก่อนย่ำรุ่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ เร็วขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นมันจะค่อยๆ เคลื่อนต่ำลงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และไปซ่อนอยู่ที่ตำแหน่ง Superior conjunction จากนั้นเราก็จะเห็นดาวศุกร์บนฟ้าย่ำค่ำในฤดูหนาว
ดาวอังคาร : สว่างที่สุดในวันขึ้นปีใหม่ด้วยค่าความสว่าง -0.6 ในกลุ่มดาวราศีเมษ (Aries) สว่างกว่าดาวใดบนท้องฟ้ายกเว้นซิเรียสกับคาร์โนปุส อยู่ห่างจากโลกประมาณ 116 ล้านกิโลเมตร และยังคงห่างออกไปเรื่อยๆ จนแสงหรี่ลงๆ
1 มีนาคม จะสว่างลง 3.5 เท่า และวันที่ 9 พฤษภาคม จะเหลือค่าโชติมาตร 2.0 (ตัวเลขค่าความสว่างน้อยหมายถึงสว่างมาก นั่นคือ -0.6 สว่างกว่า 2.0) เท่านั้น
17 มิถุนายน เฉียดผ่านดาวเสาร์ที่ระยะห่างปรากฏ 1.5 องศา หนึ่งเดือนต่อมามันจะถูกกลบจากแสงอาทิตย์ และไปอยู่ในตำแหน่ง conjunction ในวันที่ 23 ตุลาคม กลายเป็นดาวเคราะห์ที่ขึ้นในตอนเช้าในช่วงกลางเดือนธันวาคม
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
......................................................
ชวนกันดูดาวเคราะห์ในรอบปี 2549 ตอนที่ 2
The Planets in 2006 II
February 2nd, 2006
by Joe Rao
ที่มา www.space.com
Stardust Eye
ดาวพฤหัสบดี : สถิตอยู่ในกลุ่มดาวราศีตุลย์ (Libra) ด้วยแสงสีขาวเงิน ทอแสงในช่วงดึกจนถึงเช้าของวันในเดือนมกราคมถึงเมษายน ดาวพฤหัสจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 4 พฤษภาคม ดังนั้นช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจะเห็นดาวพฤหัสนี้เกือบตลอดคืน และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นจนถึงปลายเดือนตุลาคม จากนั้นจะถูกแสงอาทิตย์กลบไปในเช้าวันต้นเดือนพฤศจิกายนและ กลับมาให้เห็นอีกครั้งเช้าเดือนสุดท้ายของปี
ดาวเสาร์ในมุมเอียงต่างๆ
http://soc.jpl.nasa.gov/history.cfm
ดาวเสาร์ : มักแสดงตัวด้วยสีเหลืองขาว ในเดือนมกราคมนี้มันจะแสดงตัวในช่วงดึกจนถึงเช้า แต่เมื่อผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 27 มกราคมไปแล้ว ก็จะเห็นได้ทั้งคืนในปลายเดือนมกราคนถึงกุมภาพันธ์ และจะเห็นในท้องฟ้ายามเย็นตลอดกลางเดือนกรกฎาคม ดาวเสาร์จะผ่านเข้าไปในกลุ่มดาวราศีกรกฎ (Cancer) ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะในวันที่ 5 มิถุนายน มันจะเข้าใกล้กระจุกดาว “รวงผึ้ง” (Beehive) ของกลุ่มดาวดังกล่าว ตลอดปีนี้ดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กับดาวเคราะห์อื่นสองครั้ง ครั้งแรกคือห่างดาวอังคารที่อับแสงที่ระยะ 1.5 องศา วันที่ 17 มิถุนายน และใกล้กับดาวศุกร์ที่ระยะเดียวกันในวันที่ 27 สิงหาคม
กระจุกดาวรวงผึ้ง (Beehive) ประจำกลุ่มดาวราศีกรกฏ (Cancer)
http://www.wodaski.com/wodaski/images/new/beehive.jpg
กลางเดือนมีนาคมจนถึงต้นพฤษภาคม วงแหวนดาวเสาร์จะเอียงทำมุม 20 องศากับแนวสายตากับโลก นี่ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะส่องดูดาวเสาร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์เพราะเราจะไม่เห็นภาพเช่นนี้อีกแล้วจนกระทั่งปี 2557
ดาวยูเรนัส : เป็นดาวที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ภายใต้ท้องฟ้าอันมืดมิดและใสกระจ่าง อย่างไรก็ตามขอแค่มีกล้องส่องทางไกลแบบมองสองตาก็จะช่วยให้เห็นง่านขึ้น ดาวยูเรนัสมีความสว่างเพียง 5.7 อยู่ในกลุ่มดาวราศีกุมภ์ (Aquarius) และในวันที่ 5 กันยายน ดาวเคราะห์ดวงนี้จะอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์
ดาวเนปจูน เทหวัตถุความสว่าง 8 ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา สถิตในราศีมกร (Capricorns) และเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ในวันที่ 11 สิงหาคม
ดาวพลูโต ดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดและไกลที่สุด มีความสว่างเพียง 14 หรือสว่างน้อยกว่าวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า 900 เท่า จึงยากที่จะมองเห็น เราจำเป็นต้องไปอยู่ในที่ๆ ท้องฟ้ามืดสนิทจริงๆ และอย่างน้อยต้องมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้วในการค้นหา ภายในกลุ่มดาวงู ( Serpens ) ดาวพลูโตจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ในวันที่ 16 มิถุนายน
เช้าวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ดาวอังคาร ดาวพุธ และดาวพฤหัสบดี จะมาชุมนุมกันก่อนย่ำรุ่ง
Credit: SkyChart III Demo
สิ่งที่น่าสนใจประจำปีนี้คือ ดาวเคราะห์สามดวงปรากฏใกล้กัน
ดาวพฤหัสบดี ดาวพุธ และดาวอังคาร จะเคลื่อนเข้าใกล้กันในช่วงก่อนวันคริสต์มาส ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการชมคือ 6:30 นาฬิกา สำหรับดาวพุธและดาวพฤหัสจะสามารถสังเกตได้ง่าย แต่ดาวอังคารนั้นอาจจะยากสักหน่อยเพราะทั้งไกลและมีแสงอาทิตย์รบกวน ดาวทั้งสามจะปรากฏห่างกันไม่เกิน 1 องศา โดยเฉพาะเช้าวันที่ 10 ธันวาคม ทั้งสามจะเรียงกันคล้ายหัวลูกศร
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
......................................................
[home] [about us] [staff members] [alumni] [news] [articles & presentations] [research papers] [Princess Sirindhorn neutron monitor] [FAQs] [glossary] [links] [contact us] [academic activities]