เดือนพฤศจิกายน
2551
November
2008
November 18th,
2008
Adapted from : space.com : Mysterious Light Show Seen at Saturn
พบแสงเหนือแสงใต้(Aurora)ครั้งใหม่แผ่เป็นบริเวณกว้างขวาง
ทว่าม่านแสงครั้งนี้ไม่ได้เกิดบนโลก
หากแต่เกิดที่ขั้วดาวเสาร์(Saturn)
จากย่านรังสีอินฟราเรด นี่คือแสงเหนือแสงใต้(สีฟ้า) ที่ปรากฏเหนือขั้วดาวเสาร์ Credit: NASA/JPL/University of Arizona
หนึ่งในคณะนักวิจัย
Tom Stallard ผู้รับทุน RCUK ณ มหาวิทยาลัยแห่งเลสเตอร์(University of
Leicester) ทำงานกับข้อมูลซึ่งได้จากยานอวกาศ Cassini
ที่กำลังปฏิบัติภารกิจสำรวจระบบดาวเสาร์ ทั้งตัวดาวเสาร์ วงแหวน
หรือแม้แต่ดวงจันทร์ของดาวเสาร์เอง Tom กล่าวว่า
“เราไม่เคยเห็นแสงเหนือแสงใต้ลักษณะนี้ที่ใดมาก่อน”
“มันไม่เพียงเป็นวงแหวนแสงเหนือแสงใต้ที่คล้ายกับแสงเหนือแสงใต้บนดาวพฤหัสบดี(Jupiter)
หรือโลก(Earth) เท่านั้น หากแต่กินอาณาบริเวณกว้างขวางทั่วขั้วดาว
แนวคิดของเราในปัจจุบันที่อธิบายต้นเหตุการกำเนิดแสงเหนือแสงใต้ของดาวเสาร์
ระบุว่าในบริเวณดังกล่าวควรจะว่างเปล่า(ปราศจากแสงเหนือแสงใต้)
แต่การค้นพบแสงสว่างนี้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งน่าตกใจ”
แสงเหนือแสงใต้บนดาวพฤหัสบดี credit:J. Clarke(University of Michigan)
แสงในชั้นบรรยากาศอันหลากสีสันนี้เกิดขึ้นเมื่ออนุภาคมีประจุซึ่งเคลื่อนที่มาตามเส้นสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์และพุ่งเข้าไปในชั้นบรรยากาศ
สำหรับบนโลกอนุภาคมีประจุมาจากลมสุริยะ(solar wind)
หรือธารอนุภาคที่ออกมาจากดวงอาทิตย์
จะชนกับอะตอมหรือโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ
จนทำให้อิเลคตรอนภายในอะตอมหรือโมเลกุลเหล่านั้นเปลี่ยนสถานะเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงคายพลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านความถี่ของแสงสีต่างๆ
เพื่อกลับเข้าสู่สถานะเดิม
นักเฝ้ามองท้องฟ้าในบริเวณใกล้ขั้วโลกก็จะเห็นแสงดังกล่าว
อนุภาคมีประจุอย่างอิเลคตรอนและไอออน
เดินทางมาตามเส้นสนามแม่เหล็กพุ่งชนกับโมเลกุลในอากาศจนเกิดการกระโดดข้ามสถานะของอิเลคตรอนในโมเลกุล
ตลอดจนการคายพลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า credit:NASA
วงแหวนแสงเหนือแสงใต้ของดาวพฤหัสบดี
ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมเชิงแม่เหล็กภายในดาวพฤหัสบดีเอง จะมีขนาดคงที่
ส่วนแสงเหนือแสงใต้ของดาวเสาร์ อันเกิดจากลมสุริยะ
ขนาดของวงแสงจะแปรเปลี่ยนไปตามความเร็ว ความหนาแน่น ของลมสุริยะ
ทว่าม่านแสงที่ขั้วดาวเสาร์กลับมีบางสิ่งนอกเหนือจากการทฤษฎีที่เคยคิดไว้
“ลักษณะของแสงเหนือแสงใต้ที่เฉพาะตัวของดาวเสาร์กำลังบอกเราว่ามีบางสิ่งพิเศษและคาดไม่ถึงเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์และกระบวนการที่มันมีอันตรกิริยากับลมสุริยะตลอดจนชั้นบรรยากาศ”
Nick Achillieos
นักวิทยาศาสตร์จากคณะทำงานอุปกรณ์ตรวจวัดสนามแม่เหล็กของยาน Cassini จาก
University College London กล่าว
“การพยายามอธิบายต้นกำเนิดของมันจะคลายความสงสัย
นำเราไปสู่กลไกทางกายภาพที่พิเศษภายในสภาพแวดล้อมของดาวเสาร์”
รายงานการวิจัยพร้อมภาพถ่ายในช่วงคลื่นรังสีอินฟราเรดของแสงเหนือแสงใต้บนดาวเสาร์
ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 13
พฤศจิกายนเวลานานกว่าสองปีที่พบการลุกจ้า(flare)
การลุกจ้าครั้งใหม่บนดวงอาทิตย์
November 9th,
2008
Adapted from : space.com : New Flares of Activity Spotted on the Sun
เป็นเวลานานกว่าสองปีที่พบการลุกจ้า(flare)
และปริมาณจุดมืด(sunspot) น้อยมากๆ
แต่ขณะนี้ดวงอาทิตย์กำลังเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนครั้งใหม่
กิจกรรมเชิงสนามแม่เหล็กที่ก่อให้เกิดพายุสุริยะ
จะมากและน้อยลงเป็นคาบประมาณ 11 ปี เรียกว่าวัฏจักรสุริยะ(solar cycle)
พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดจะทำให้ระบบสายส่งไฟฟ้าบนโลกประสบปัญหา
รบกวนการสื่อสารทางคลื่นวิทยุและดาวเทียม
ครั้งที่รุนแรงที่สุดของวัฏจักรสุริยะรอบที่แล้ว คือเมื่อราวปี 2543
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเมื่อหลายเดือนก่อน
ดวงอาทิตย์ได้ผ่านช่วงเวลาที่สงบที่สุดไปแล้ว และจุดมืดจุดใหม่ๆ
ก็เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แล้วอย่างน้อย 5 จุด
ซึ่งเมื่อเทียบกับในบริเวณเดียวกันเมื่อหลายเดือนก่อน
กลับไม่มีจุดเหล่านี้
นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกการมาของวัฏจักรสุริยะรอบใหม่!
แม้จะมีขนาดเล็ก
แต่จุดมืดจุดที่ 1007 ก็ปรากฏตัวขึ้น และเคลื่อนผ่านผิวหน้าดวงอาทิตย์ไป
Credit: the Solar and Heliospheric Observatory (SOHO)
จุดมืด
แท้จริงเป็นบริเวณที่ผิวของดวงอาทิตย์มีเส้นสนามแม่เหล็กรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นและลอยตัวเป็นบ่วงโค้ง
โดยจุดมืดมักอยู่กันเป็นคู่ จุดหนึ่งเป็นขั้วเหนือ(สนามแม่เหล็กพุ่งออก)
และขั้วใต้(สนามแม่เหล็กพุ่งเข้า)
ทำให้มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณข้างเคียง เมื่ออุณหภูมิบริเวณรอบๆ ร้อนกว่า
จึงเปล่งแสงได้เข้มข้นกว่า จนดูเหมือนว่าบริเวณจุดมืดกลายเป็นสีดำสนิท
ผลการทำนาย(เส้นสีแดง)
วัฏจักรสุริยะรอบที่ 24 อาจรุนแรงที่สุด(จำนวนจุดดับมากที่สุด) ในช่วงปี
2553 ถึง 2556
credit: NOAA/SEC Boulder, CO USA
วัฏจักรสุริยะรอบใหม่เป็นรอบที่
24 อย่างไรก็ตามมันก็ยังค่อยๆ เกิดขึ้น
โดยมีคำใบ้ว่ามันเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว
ทว่าเนื่องจากดวงอาทิตย์มีปริศนาลึกลับมากมายเกินไปทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจรู้แน่ชัดว่า
การเปลี่ยนแปลงเพื่อขึ้นวัฏจักรสุริยะรอบใหม่นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ทำไม
และอย่างไร นอกจากจุดมืดของรอบเก่าและรอบใหม่
จะเกิดขึ้นในบริเวณละติจูดต่างและขั้วแม่เหล็กต่างกัน
จากมกราคมถึงกันยายนของปีนี้
ดวงอาทิตย์มีจุดมืดปรากฏ 22 กลุ่ม ร้อยละ 82 เป็นจุดมืดของวัฏจักรรอบที่
23 ที่เหลือเป็นจุดที่เกิดในเดือนตุลาคมและเป็นของรอบที่ 24
ตัวอย่าง การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 จากยานอวกาศ SOHO credit: SOHO/EIT ESA & NASA
เมื่อวันที่
3 และ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จุดมืดหมายเลข 1007 ได้เกิดการลุกจ้าในระดับ
B
ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับพายุสุริยะที่รุนแรงมากที่สุด
แต่ก็เพียงพอสำหรับทำให้เกิดการลดทอนและกระเพื่อมของสัญญาณวิทยุบนโลก
การลุกจ้าที่รุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้น ณ
เวลาใดก็ได้ภายในช่วงไม่กี่ปีนี้ สามารถหยุดการทำงานของดาวเทียมได้
เส้นทางเชื่อมต่อโลกกับดวงอาทิตย์
November 8th,
2008
Adapted from : space.com : Strange Portal Connects Earth to Sun
เมื่อสนามแม่เหล็กโลกถูกเปิดออกทุกๆ
8 นาที หรือนานกว่านั้น
แนวโตรกธารขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ก็เปิดขึ้น
อนุญาตให้อนุภาคพลังงานสูงถูกถ่ายเทเข้าสู่บรรยากาศโลก
เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Flux Transfer Event(FTE)
เดิมทีปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ถูกระบุอย่างแน่ชัดว่ามีอยู่จริง
แต่ในการประชุม 2008 Plasma Workshop ในเมือง Huntsville มลรัฐ
Alaska ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา David Sibeck
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด(Goddard Space Flight
Center) นำเสนอผลงานวิจัยที่ระบุว่า ปรากฏการณ์ FTE
มีอยู่จริงและเกิดบ่อยกว่าที่เคยเชื่อถึงสองเท่า
ภาพจำลองแสดงช่องทางเปิดของสนามแม่เหล็กโลกที่เชื่อมต่อกับสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ Credit: NASA
นักวิจัยทราบมานานแล้วว่าโลกและดวงอาทิตย์สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยกระแสอนุภาคพลังงานสูง
ตัวอย่างเช่น
อนุภาคจากดวงอาทิตย์ที่ถูกพาออกจากดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องโดยลมสุริยะ
และเคลื่อนที่ตามเส้นสนามแม่เหล็กที่เชื่อมต่อระหว่างชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์กับชั้นบรรยากาศโลกอย่างสม่ำเสมอ
เส้นสนามแม่เหล็กจะพาอนุภาคพุ่งทะลุเข้าไปยังสนามแม่เหล็กโลกที่ห้อหุ้มโลกอยู่
Sibeck อธิบายว่า
“เราเคยคิดว่าการเชื่อมต่อเป็นไปอย่างถาวรและลมสุริยะนั้นสามารถเคลื่อนอย่างช้าๆ
เข้าไปใกล้โลกในเวลาใดก็ได้ที่ลมสุริยะมีความรุนแรง”
“เราคิดผิด การเชื่อมต่อไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา
มันเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว รุนแรง และเคลื่อนไหว”
แผนภาพประกอบการบรรยายของ
Robert Fear จากมหาวิทยาลัยแห่งเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร
ในการประชุม 2008 Plasma Workshop นำเสนอสัณฐานของ FTE
แบบต่างๆ credit: Fear et al 2008
ผู้บรรยายหลายท่านที่การประชุมนั้นวางเค้าโครงรูปแบบของ
FTE แนวคิดหนึ่งคือ ณ
บริเวณที่โลกหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์
สนามแม่เหล็กโลกก็มีโอกาสหักล้างกับสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ และทุกๆ 8
นาที เส้นสนามแม่เหล็กจะหักล้างและเชื่อมต่อใหม่
ทำให้เกิดช่องเปิดขนาดพอๆ กับโลก ที่อนุญาตให้อนุภาคทะลุผ่านเข้ามาได้
Sibeck อธิบายว่า FTE
ก็เหมือนกับทรงกระบอกที่วางราบตามขอบเขตระหว่างสนามแม่เหล็กโลกกับสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์
Sibeck ยังเสริมอีกว่า
แนวเปิดดังกล่าวต้องเปลี่ยนรูปร่างได้ดังนั้นมันจึงสามารถแทงผ่านสนามแม่เหล็กทั้งสอง
โดยอาจมี FTE เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่ง และจะเปิดอยู่ประมาณ 15
ถึง 20 นาที
ในการตรวจวัดการมีอยู่จริงของ
FTEs ยานอวกาศต้องไม่เพียงตรวจจับขณะที่มันก่อตัว
แต่ต้องอยู่ที่ปลายทั้งสองด้านของโครงสร้างแม่เหล็กทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
ในความเป็นจริง กองยานอวกาศ Cluster ขององค์การอวกาศยุโรป(European Space
Agency) และกองยานหยั่งสำรวจ THEMIS ขององค์การ NASA
เคยบินผ่านช่องเปิดทรงกระบอกเหล่านี้
อีกทั้งยังได้วัดขนาดและอนุภาคที่เคลื่อนผ่าน Sibeck
กล่าวว่า ขณะที่ผลการสังเกตการณ์บ่งชี้ความกว้างของ FTE
แต่ความยาวยังไม่สามารถวัดได้ผ่านการวัดของยานอวกาศที่อยู่ห่างกันประมาณ 5
เท่าของรัศมีโลก( รัศมีโลกยาว 6,400 กิโลเมตร)
Jimmy Raeder
จากมหาวิทยาลัยแห่งนิวแฮมเชียร์(University of New Hampshire)
ใช้ผลการสังเกตการณ์ดังกล่าวมาพัฒนาการจำลองโดยคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างแบบจำลองช่องเปิด
FTE
เขาพบว่าช่องเปิดทรงกระบอกนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรโลก
และภายในเดือนธันวาคม FTE จะม้วนขึ้นไปเหนือขั้วโลกเหนือ
ส่วนในเดือนกรกฎาคมมันจะม้วนไปทางขั้วโลกใต้
กลุ่มยานอวกาศ cluster โคจรรอบโลกภายในบริเวณ magnetosphere เพื่อสังเกตการณ์ปรากฎการณ์สำคัญๆ ในสนามแม่เหล็กโลก Credit:ESA
Sibeck
คิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดบ่อยเป็นสองเท่าของค่าประมาณที่เคยคาดหมายกัน
โดยมีการถ่ายโอนฟลักซ์สนามแม่เหล็กทั้งแบบ active และ passive
โดยเมื่อกระบอกสนามแม่เหล็กเป็นแบบ active อนุภาคจะบินผ่านง่ายกว่า
ทำให้เกิดการพาพลังงานปริมาณมหาศาลสู่สนามแม่เหล็กโลก
แต่หากกระบอกสนามแม่เหล็กเป็นแบบ passive
ทรงกระบอกจะมีความต้านทานการเคลื่อนที่ของอนุภาค
โครงสร้างภายในของกระบอกสนามแม่เหล็กจะทำให้อนุภาคและสนามแม่เหล็กเคลื่อนผ่านได้ยาก
Sibeck คำนวณสมบัติของ FTE แบบ
passive
พร้อมทั้งหวังว่าตัวเขาและคณะทำงานจะสามารถค้นหาสัญญาณของปรากฎการณ์นี้จากข้อมูลที่ได้จาก
THEMIS และ Cluster
แปลและเรียบเรียงโดย วัชราวุฒิ กฤตินธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล