เดือนกรกฎาคม 2550
July 2007
พบน้ำบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
'Clear Signs of Water' on Distant Planet
July 25th, 2007
Giovanna Tinetti จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งปารีส (Institut d'Astrophysique de Paris) และคณะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ผู้มีดวงตาในย่านรังสีอินฟราเรด ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ HD 189733b อันเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ชนิด ดาวพฤหัสบดีร้อน(Hot Jupiter) โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ (Sun-Like Star) HD 189733 ใกล้เสียยิ่งกว่าระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ ทำให้ใช้เวลาโคจรครบรอบเพียง 2 วันเท่านั้น HD189733b มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีร้อยละ 15 ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ประมาณ 727 องศาเซลเซียส โดยระบบดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ นี้อยู่ห่างจากโลก 64 ปีแสง ภายในกลุ่มดาว Vulpecula (สุนัขจิ้งจอก)
ภาพจากจินตนาการของศิลปินแสดงดาวเคราะห์ HD 189733b และดาวฤกษ์ HD189733
Credit : ESA, C. Carreau
แม้ว่าก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยพยายามค้นหาสัญญาณของน้ำบนดาวเคราะห์ HD189733b แต่ก็ล้มเหลว ช่วงเวลานั้นพวกเขาคาดว่า น้ำอาจจะซ่อนอยู่ภายใต้ชั้นเมฆซิลิเกตหนา Tinetti และคณะเสนอคำอธิบายที่ต่างออกไป พวกเขาตั้งสมมติฐานว่า อุณหภูมิภายในชั้นบรรยากาศของ HD 189733b นั้นสม่ำเสมอทุก ๆ ระดับความสูง ซึ่งแตกต่างจากโลกที่มีอุณหภูมิแปรเปลี่ยนไปตามความสูงจากพื้นผิว งานวิจัยเก่า ๆ นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาเส้นสเปคตรัมแบบดูดกลืน อันเนื่องมาจากการแผ่รังสีจากภายในดาวเคราะห์ผ่านชั้นก๊าซเย็นซึ่งเลือกดูดกลืนเฉพาะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เฉพาะเจาะจงบางช่วงคลื่นเท่านั้น แต่หากอุณหภูมิไม่แตกต่างกัน การดูดกลืนแสงจึงไม่เกิดขึ้นให้ค้นพบ
ตัวอย่างการค้นพบธาตุโซเดียมภายในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นอกระบบ ซึ่งการค้นหา ไอน้ำ ในงานวิจัยนี้ก็ใช้วิธีการเดียวกัน
Credit : Space.com
สำหรับงานวิจัยชิ้นใหม่ พวกเขาศึกษา HD189733b ขณะที่มันเคลื่อนผ่านหน้า (Transit) ดาวฤกษ์แม่ แล้วตรวจวัดแสงจากดาวฤกษ์ ฏ H HD189733 ที่ผ่านเข้าไปในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แล้วเดินทางมาถึงโลก ในกรณีนี้เส้นสเปคตรัมดูดกลืนจะเกิดขึ้น เนื่องจากแสงผ่านออกมาจากสองบริเวณที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างชั้นบรรยากาศของดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ พวกเขาพบว่า ชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ HD189733b เลือกดูดกลืนแสงจากดาวฤกษ์เฉพาะค่าความยาวคลื่นที่สอดคล้องกับโมเลกุลของไอน้ำ นั้นหมายความว่ามีน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศของ HD189733b นั่นเอง
Heather Knutson นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) เรียกว่า เป็นหลักฐานที่เด่นชัด สำหรับน้ำบนดาวเคราะห์ชนิดพฤหัสบดีร้อน เพราะมันช่วยสนับสนุนสิ่งที่นักทฤษฎีหลายคนคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญภายในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ชนิดนี้
การค้นหาธาตุในองค์ประกอบของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำเป็นต้องรอให้ดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์
แล้วจึงวิเคราะห์แสงดาวฤกษ์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ออกมา
Credit:Space.com
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Travis Barman แห่งหอสังเกตการณ์โลเวลล์ (Lowell Observatory) ประกาศการค้นพบไอน้ำภายในชั้นบรรยากาศของดาวชนิดพฤหัสบดีร้อน โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และวิธีการเดียวกับที่ Tinetti ใช้ อย่างไรก็ตาม ผลการสังเกตการณ์ของ Barman อาจเกิดจากสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ตรวจวัดเอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่เชื่อถือ
ข้อมูลจากสปิตเซอร์กลับช่วยยืนยันผลของ Barman ด้วยการใช้หอสังเกตการณ์อีกแหล่งและช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน Sean Carey จากศูนย์วิทยาศาสตร์สปิตเซอร์ (Spitzer Science Center) ขององค์การ NASA ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งคาลิฟอร์เนีย (Caltech) กล่าวเสริม เมื่อรวมข้อมูลจากกล้องทั้งสองก็ทำให้ข้อสรุปหนักแน่นยิ่งขึ้น
แม้ว่าน้ำจะเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก, HD189733b และดาวเคราะห์ชนิดดาวพฤหัสบดีร้อนดวงอื่น ๆ กลับดูเหมือนว่าไม่เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตที่จะอยู่ในดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่และอุณหภูมิผิวสูงขนาดนั้น แต่ผลการค้นพบใหม่นี่ดูเหมือนจะชี้นำว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่น ๆ อาจประกอบด้วยน้ำบ้างก็ได้
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
พบกาแลกซีไกลที่สุด (หรือเก่าที่สุด) เท่าที่เคยค้นพบ
Astronomers Find Farthest Known Galaxies
July 25th, 2007
นักดาราศาสตร์พึ่งค้นพบหลักฐานสำหรับกาแลกซีที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยสังเกตการณ์พบ
ตามทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang) กาแลกซีจะเกิดขึ้นหลังจากกำเนิดเอกภพประมาณ 500 ล้านปี (ร้อยละ 4 ของอายุเอกภพในปัจจุบัน) แสงจากกาแลกซีโบราณเหล่านั้นเดินทางผ่านเอกภพมาเป็นเวลานานกว่า 13,000 ล้านปี เมื่อมาถึงเรา (มนุษย์) กลับพบว่า ภาพกาแลกซีโบราณกลับถูกทำให้บิดเบี้ยวโดน เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lens) ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยกระจุกกาแลกซีที่อยู่ใกล้โลกมากกว่า โดยเลนส์ความโน้มถ่วงสามารถขยายความเข้มของแสงจากแหล่งกำเนิดไกลโพ้นโดยกลุ่มโครงสร้างวัตถุที่บังอยู่ด้านหน้า
กาแลกซีทั้งหกแห่งใกล้ ๆ เลนส์ความโน้มถ่วง แต่ละภาพแสดงเส้นสเปคตรัมจาง ๆ (ภายในวงกลม) ภายในย่านรังสีอินฟราเรด
ซึ่งนักดาราศาสตร์แปลความหมายว่ามาจากเส้นสเปคตรัมของอะตอมไฮโดรเจนที่เกิด Redshift มาจากแหล่งกำเนิดซึ่งแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต
Credit : Caltech
คณะนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ Keck II ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกปฐมภูมิ 10 เมตร บนยอดเขา Mauna Kea หมู่เกาะฮาวาย เล็งไปยังกระจุกกาแลกซีโบราณที่อุดมไปด้วยดาวอายุมากและพบว่า กาแลกซีรุ่นใหม่ที่มีดาวฤกษ์กำลังถือกำเนิดขึ้นหกแห่ง แสงของพวกมันมีความสว่างมากกว่าเดิม 20 เท่าอันเนื่องจากกำลังขยายเลนส์ความโน้มถ่วง คุณสมบัตินี้เองที่ช่วยให้พวกเขาพบกาแลกซีไกลโพ้นและโบราณที่แสงริบหรี่ลงไปตามระยะทาง กลับสว่างขึ้นจนสามารถตรวจวัดได้ เมื่อคำนวณอายุของกาแลกซีอายุน้อยเหล่านั้นพบว่า แท้จริงพวกมันคือกาแลกซีที่ถือกำเนิดขึ้นเอกภพมีอายุได้เพียง 500 ล้านปีเท่านั้น
เลนส์ความโน้มถ่วงคือเทหวัตถุมวลมหาศาล เช่น กระจุกกาแลกซี
ซึ่งสามาถขยายความเข้มแสงจากกาแลกซีที่อยู่ไกลออกไปอันอับแสงเกินกว่าจะตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือบนโลก
Credit : Caltech
Richard Ellis นักดาราศาสตร์จาก Caltech หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิจัยนี้อธิบายว่า เมื่อตรวจสอบกระจุกกาแลกซีที่เลือกไว้แล้ว เราประมาณกันว่า ปัจจุบันเอกภพมีอายุ 13,7000 พันล้านปี ดังนั้น กาแลกซีใหม่นี้ย่อมอยู่ห่างจากเรา 13.20 พันล้านปีแสง หรือภาพที่เราเห็นคือภาพของมันเมื่อ 13.20 พันล้านปีก่อน ( 1 ปีแสง คือระยะทางที่แสงเดินทางได้ในหนึ่งปี ประมาณ 10,000,000,000,000 กิโลเมตร)
แสดงความสัมพันธ์ของ Redshift กับอายุของเอกภพ Redshift เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดแสงเคลื่อนที่ออกห่างกับผู้สังเกตจนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายาวขึ้น
หรือเลื่อนไปทางความยาวคลื่นของสีแดง จากภาพจะเห็นว่าช่วงแรกของเอกภพยังคงปราศจากแสงใด ๆ เรียกว่า Dark Ages
credit : Ivo Labbι;
เมื่อปี 2547 กลุ่มวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งประกาศการค้นพบที่อยู่ห่างออกไป 13.23 พันล้านปีแสง แต่เมื่อตรวจสอบอีกครั้งเทหวัตถุดังกล่าวไม่ได้มีอายุดังที่กล่าวอ้าง
กาแลกซีเป็นกลุ่มเทหวัตถุที่เกิดขึ้นหลังจากยุคที่ดาวฤกษ์เริ่มถือกำเนิด หลังจากบิ๊กแบง เอกภพปราศจากดาวฤกษ์ ปราศจากแสงสว่างแต่เมื่อดาวฤกษ์ดวงแรกที่กำเนิดก็คือจุดจบของ ยุคมืดของเอกภพ (Cosmic Dark Ages) ดังนั้น ในยุคแห่งแสงดังกล่าวจึงมีกาแลกซีไกลโพ้นจำนวนมากที่รอคอยให้มนุษย์ค้นหากันต่อไป
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
Wild Weather: Earth vs. Mars
July 25th, 2007
เพียงสองสัปดาห์ที่พายุฝุ่นบดบังพื้นที่กว่า 10 ล้านตารางไมล์ของซีกใต้ดาวอังคาร ก็ทำให้ภารกิจสำรวจดาวอังคารด้วยรถสำรวจทั้งสองคันต้องหยุดชะงัก โดยรถสำรวจ Opportunity อยู่ในบริเวณที่พายุอ่อนแรงกว่าในบริเวณของรถสำรวจ Spirit แต่ทั้งสองคันก็ยังได้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพียงพอที่จะอยู่รอดและปฏิบัติภารกิจต่อไป หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำทีมสำรวจ Steven Squyres จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เผย
ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีความหนาแน่นน้อยกว่าร้อยละ 1 ของชั้นบรรยากาศโลกก็จริง แต่ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศก็ไม่ได้มีน้อยไปกว่าโลกเลย เช่น พายุฝุ่น เมฆน้ำแข็งและคาร์บอนไดออกไซด์ พายุทอร์นาโด ออโรร่า เป็นต้น
ภาพถ่ายพายุฝุ่นดาวอังคารโดนนักดาราศาสตร์สมัครเล่น Paul Maxso แห่งเมืองฟินิกส์ มลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา
พายุบนดาวอังคารคือจุดสว่างสีแดงในภาพ RGB ทางตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์กลางดาว
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน แล้วขยายตัวเป็นสี่เท่าในวันที่ 26 มิถุนายน
Credit : Paul Maxson
John Wilson นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์วิทยาจาก National Oceanic & Atmospheric Administration ในเมืองพรินซ์ตัน มลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ดาวอังคารยังมีแกนหมุนเอียงทำมุมกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์คล้ายกับโลก ดังนั้นมันจึงมีฤดูกาลดุจเดียวกับโลก แม้ว่านักดาวเคราะห์วิทยาจะยังคงพัฒนาแบบจำลอง เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศดาวอังคารอยู่ แต่ Wilson ก็ยังให้ความเห็นว่า 43 ปีของการสำรวจดาวอังคารช่วยเปิดเผยความความน่าสนฝจของสภาพอากาศดาวอังคารมาโดยตลอด
สืบเนื่องจากแกนหมุนของดาวอังคารเอียงทำมุม 25.2 องศากับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้
credit : http://www.adlerplanetarium.org/cyberspace/planets/mars/seasons.html
เมื่อดาวอังคารหันแกนหมุนด้านเหนือออกจากดาวอังคารก็เป็นฤดูร้อนของซีกใต้ของดาว บริเวณเส้นศูนย์สูตรช่วงกลางวันอุณหภูมิประมาณ 27 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนติดลบถึง 56 องศาเซลเซียส ความเย็นจนถึงกระดูกนี้สามารถทำให้โลหะบัดกรีที่เชื่อมต่อกับบอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวหรือแตกหักอันเป็นสัญญาณอันเลวร้ายต่อภารกิจใด ๆ บนดาวอังคาร Wilson ยังอธิบายอีกว่า ฤดูร้อนของซีกใต้เป็นช่วงเวลาที่พายุทอร์นาโดที่เรียกว่า Dust Devil เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เนื่องจากความแปรปรวนของอุณหภูมิดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์อุ่นพื้นดินที่เย็นยะเยือกในช่วงเช้า อากาศร้อนจะลอยขึ้นจากผิวอย่างรวดเร็วและอากาศโดยรอบให้เข้ามาแทนที่ และฝุ่นผงขนาดเล็กก็ตามมาด้วยก่อให้เกิดพายุหมุนฝุ่นความเร็วสูง แต่ละครั้งพายุหมุน Dust Devil ทำให้ฝุ่นละเอียดเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การกัดกร่อนโดยลมเป็นเวลากว่าพันล้านปีทำให้ฝุ่นบนดาวอังคารเล็กละเอียด อีกทั้งการขาดแคลนน้ำก็ยิ่งขาดตัวประสานฝุ่นเหล่านั้นให้จับตัวเข้าหากัน
รถสำรวจดาวอังคาร Spirit ถ่ายภาพพายุหมุนทรายบนดาวอังคารได้จาก Husband Hill ภายในหลุมอุกกาบาต Gusev เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2548
Image credit : NASA/JPL
นักดาวเคราะห์วิทยาคิดว่า พายุทอร์นาโดฝุ่นเหล่านี้เมื่อรักษาสภาพการหมุนเป็นเวลานานและมีขนาดใหญ่พอจะทำให้เกิดพายุฝุ่นที่บดบังแสงจากดวงอาทิตย์ได้ไปทั่วทั้งดาว ซึ่งดูเหมือนจะเกิดเป็นประจำทุก ๆ 3 ปีดาวอังคาร (ประมาณ 6 ปีบนโลก)
เมฆคาร์บอนไดออกไซด์แข็งสามารถมองเห็นได้จากบนอวกาศโดยดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคารและภาคพื้นดินโดยรถสำรวจทั้งสองคัน เมฆเหล่านั้นมาจากซีกเหนือของดาวอังคารที่ซึ่งหันออกจากดวงอาทิตย์ มีลักษณะเหมือนเมฆ Cirrus บนโลก และลอยอยู่ในระดับความสูงเหนือพื้นผิวมาก ๆ เมฆคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงสภาพอยู่ได้นานเป็นพิเศษในบริเวณขั้วดาว ที่ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (น้ำแข็งแห้ง)ระเหยขึ้นมาจากขั้วน้ำแข็ง
แม้ว่าชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจะมีความหนาแน่นต่ำ แต่ก็ยังมากพอที่จะสร้างระบบพายุที่เคลื่อนที่ไปทั่วดาวอังคาร และหากดาวอังคารมีน้ำมากกว่านี้ปรากฎการณ์ทางสภาพอากาศบนดาวอังคารอาจจะหลากหลายยิ่งกว่านี้
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
พายุอันน่าสะพรึงกลัวบนดาวอังคารอาจพิพากษารถหุ่นยนต์สำรวจผิวดาว
'Scary Storm' on Mars Could Doom Rovers
July 16th, 2007
พายุทรายขนาดใหญ่ที่ปกคลุมทั่วซีกใต้ของดาวอังคารอาจเป็นตัวตัดสินอนาคตของภารกิจสำรวจดาวอังคารด้วยรถหุ่นยนต์ทั้งสองลำ
พายุฝุ่นทรายปกคลุมผิวดาวอังคาร ทำให้แผงเซลล์สุริยะของรถหุ่นยนต์ Spirit กับ Opportunity ไม่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้มากพอจะป้อนให้รถทั้งสองคันทำงานได้ และหากพายุยังคงรุนแรงและต่อเนื่องต่อไป นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าแบตเตอรี่ของพวกมันอาจจะหมดและต้องยุติภารกิจไปตลอดกาล
ภาพถ่ายพายุฝุ่นดาวอังคารโดนนักดาราศาสตร์สมัครเล่น Paul Maxso แห่งเมืองฟินิกส์ มลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา
พายุบนดาวอังคารคือ จุดสว่างสีแดงในภาพ RGB ทางตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์กลางดาว
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน แล้วขยายตัวเป็นสี่เท่าในวันที่ 26 มิถุนายน
Credit : Paul Maxson
ในขั้นแรกพายุลูกนี้ไม่ได้แผ่ขยายไปทั่วดาว แต่ระดับความหนาของฝุ่นก็ถึงระดับที่รถสำรวจจะทานทนได้ เหมือนกับพายุทรายดาวอังคารเมื่อปี 2544 และ 2514 แต่ตอนนี้พายุทรายบนดาวเคราะห์แดงกำลังทำลายสถิติเดิม เมื่อความหนาของฝุ่นทำให้เมื่อเราไปอยู่บนดาวอังคารจะทำให้เห็นดวงอาทิตย์อับแสงลงไป 100 เท่า
ภายในเวลาสองสัปดาห์พายุฝุ่นขยายตัวจากเดิมที่ปกคลุมเนื้อที่ 600,000 ตารางกิโลเมตร ไปสู่ขนาด 18,000,000 ตารางกิโลเมตร มันไม่ใช่พายุลูกเดียวโดด ๆ แต่เป็นผลการรวมกันของพายุท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง พวกมันทำให้ฝุ่นปริมาณมหาศาลฟุ้งกระจายขึ้นเกิดเป็นเมฆฝุ่นยักษ์ เมื่อฝุ่นลอยตัวสูงขึ้น อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศก็จะอุ่นขึ้นทำให้ฝุ่นยังคงลอยอยู่เหนือพื้นผิวต่อไป อันเป็นปัญหาที่ทีมปฏิบัติการ Mares Exploration Rover (MER) กำลังกังวลอยู่
เส้นทางการเดินทางสำรวจหลุมอุกกาบาตร Victoria ของ Opportunity
Credit : NASA/JPL/Cornell/University of Arizona/Ohio State University
สัปดาห์ที่แล้ว สภาพลมดาวอังคารช่วยพัดกวาดเอาชั้นฝุ่นที่ปกคลุมรถสำรวจทั้งสองออกไป ทำให้หน่วยกำเนิดพลังงานสามารถจ่ายพลังงานได้ 800 วัตต์-ชั่วโมง และทำให้การเดินทางสำรวจหลุมอุกกาบาต Victoria ของ Opportunity ยังคงเดินหน้า อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่ได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่นั้นยังสั้นเกินไป ทำให้พลังงานของรถสำรวจลดต่ำลงไป 280 วัตต์-ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งเท่ากับการทำให้หลอดไฟ 60 วัตต์ หนึ่งดวงสว่างต่อเนื่องได้ไม่ถึง 5 ชั่วโมง
ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดพวกเขามีแผนที่จะปิดการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาพลังงานไว้ใช้ให้นานที่สุด อย่างน้อยก็เพื่อหล่อเลี้ยงระบบอิเลคทรอนิคส์เอาไว้ให้มีอุณหภูมิที่ไม่เย็นเกินไปจนระบบสำคัญ ๆ เสียหาย
รถสำรวจทั้งสองเคยผ่านประสบการณ์พายุทรายบนดาวอังคารมาแล้ว เพียงแต่เป็นพายุที่ไม่รุนแรงเท่านี้มาก่อน ครั้งนั้นมันใช้เวลาขยายหลายสัปดาห์ทีเดียว แต่คราวนี้กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า สภาพภูมิประเทศของดาวอังคารทางซีกใต้อาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากความสูงของภูมิประเทศทางด้านใต้เฉลี่ยแล้วสูงกว่าทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้พายุสามารถแผ่ขยายไปทั่วผิวดาว
เส้นทางเดินของ Opportunity จากจุดลงจอดจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2550 นับเป็นวันที่ 1,215 บนดาวอังคาร
Credit : NASA/JPL/Cornell/MSSS/Ohio State University
โชคดีในโชคร้ายเมื่อปรากฏการณ์นี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามการเริ่มต้นและขยายตัวของพายุ เพื่อนำข้อมูลไปสู่แบบจำลองสภาพอุตุนิยมวิทยาดาวอังคาร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนายสภาพอากาศดาวอังคารในอนาคต
พายุฝุ่นระดับดาวเคราะห์นี้จะเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ดาวอังคาร หรือหกปีของโลก ครั้งล่าสุดคือประมาณ 2 ปีดาวอังคารก่อน พายุลูกนี้เองก็มีศักยภาพมากพอจะพัฒนาตัวเองเป็นพายุฝุนระดับดาวเคราะห์ได้ ซึ่งหมายความว่า ดาวอังคารมีความสามารถพิพากษารถสำรวจทั้งสองคันให้จบภารกิจได้
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
ดาวฤกษ์ปนเปื้อนเศษวัสดุจากดาวเคราะห์
Star Surface Polluted by Planetary Debris
July 16th, 2007
จากองค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์บริวาร นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวแคระขาวมักอุดมไปด้วยธาตุหนักอยู่บริเวณผิวดาว ในขณะที่ดาวยักษ์กลับไม่มี ไม่กี่ปีมานี้การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ดวงแรกเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าดาวเคราะห์สามารถพบได้บ่อยภายในระบบดาวฤกษ์ที่อุดมโลหะ โดยดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์จะมีปริมาณโลหะเป็นสองเท่าของดาวฤกษ์ชนิดเดียวกันที่ไม่มีดาวเคราะห์บริวาร ปัญหาก็คือ เป็นเพราะมีโลหะจำนวนมากภายในดาวฤกษ์ทำให้เกิดดาวเคราะห์ หรือเพราะมีดาวเคราะห์จึงทำให้มีโลหะมากในดาวฤกษ์กันแน่ เหมือนกับปัญหาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
ในกรณีแรกดาวฤกษ์โลหะในชั้นบรรยากาศดาวฤกษ์จะจมลงสู่แกนกลาง ส่วนในกรณีที่สองเศษซากจากดาวเคราะห์ปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศดาวด้านนอกสุด เมื่อถ่ายสเปคตรัมของดาวฤกษ์ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเฉพาะบรรยากาศชั้นนอกสุดเท่านั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าดาวทั้งดวงมีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนกันหมดทุกส่วน ขณะนี่เศษซากจากดาวเคราะห์ตกลงไปในดาวฤกษ์วัสดุเหล่านั้นจะยังคงอยู่ที่ผิวนอก ปนเปื้อนและมีร่องรอยให้เห็นในภาพถ่ายสเปคตรัม
ปกติธาตุหนักที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันภายในดาวฤกษ์มันจะจมอยู่ในแกนกลางไม่ปะปนอยู่ในบรรยากาศชั้นนอกสุดนอกเสียจากปกเปื้อนจากสิ่งอื่น
Credit : http://www.cococubed.com/images/87a/images/massive_star_onion3d_web.jpg
Luca Pasquini จากหอสังเกตการณ์ซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory) ผู้เขียนนำในบทความรายงานการวิจัยชิ้นนี้ พร้อมทั้งกลุ่มนักดาราศาสตร์ของเขาจึงตัดสินใจศึกษาดาวฤกษ์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือ ดาวยักษ์แดง (Red Giant) อันเป็นสภาพขั้นต่อไปของดวงอาทิตย์ในอีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า เกิดขึ้นเมื่อไฮโดรเจนภายในแกนกลางของดาวไม่เพียงพอสำหรับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน จึงใช้ฮีเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้วค่อย ๆ พองขึ้น และอุณหภูมิลดต่ำลงจนเห็นเป็นสีแดง
หลังจากการศึกษาการกระจายตัวของโลหะภายในระบบดาวยักษ์แดงที่มีดาวเคราะห์บริวารจำนวน 14 ระบบ พบว่าการกระจายตัวของโลหะภายในดาวฤกษ์เหล่านั้นแตกต่างไปจากดาวฤกษ์ธรรมดาที่มีดาวเคราะห์บริวาร พวกเขาพบว่าดาวฤกษ์ที่วิวัฒนาการจนถึงที่สุดจะไม่มีโลหะมากนัก แม้แต่ดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์ ดังนั้นความผิดปกติที่พบในระบบดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ จะหายไปเมื่อพวกมันมีอายุมากขึ้นและพองตัว
เปรียบเทียบขนาดดาว เขตการพาความร้อน (Convection Zone) ของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์กับดาวยักษ์แดง
Credit : ESO
เมื่อสืบสวนจากหลายปัจจัย นักดาราศาสตร์สรุปว่ากุญแจสำคัญน่าจะอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างของดาวยักษ์แดงและดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ (Solar-Like Star) ที่เรียกว่าขนาดของเขตการพาความร้อน (Convection Zone) อันเป็นบริเวณที่ก๊าซผสมกันอย่างสมบูรณ์ สำหรับดวงอาทิตย์เขตการพาความร้อนกลับมีมวลเพียงร้อยละ 2 ของดาวทั้งดวง แต่ในดาวยักษ์แดงขอบเขตการพาความร้อนมีขนาดใหญ่มาก หรือมีมวลอยู่ภายในเขตนี้ถึงร้อยละ 35 ของมวลทั้งหมด วัสดุที่ปนเปื้อนก็ควรจะเจือจางเป็น 35 เท่า ของการปนเปื้อนภายในดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์
วงแหวนมวลสารที่ล้อมรอบดาวฤกษ์เกิดใหม่เป็นตัวการทำให้เกิดการปนเปื้อนโลหะหนักในชั้นบรรยากาศดาวฤกษ์
Credit :ESO
อธิบายอย่างง่ายที่สุดได้ว่า ดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่มีโลหะในชั้นบรรยากาศมากเป็นเพราะภายในชั้นบรรยากาศปนเปื้อนโลหะเหล่านั้นจากภายนอก ในขณะที่ดาวฤกษ์ยังถูกล้อมรอบด้วยวงแหวนมวลสารที่จะกลายเป็นต้นกำเนิดดาวเคราะห์ (Proto-Planetary Disc) วัสดถที่มีธาตุหนักปะปนอยู่มากจะตกลงไปในดาวฤกษ์ และธาตุหนักเหล่านั้นก็กระจายภายในผิวดาวฤกษ์ ในขณะที่ดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่มีขอบเขตการพาความร้อนบาง ๆ จะมองเห็นร่องรอยธาตุหนักภายในบรรยากาศได้จากสเปคตรัม แต่สำหรับดาวยักษ์ที่มีขอบเขตการพาความร้อนกว้างกว่าปริมาณโลหะจะเจือจางจนปรากฎร่องรอยในสเปคตรัมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
Pulsing Giant Star Dissected
July 13th, 2007
ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน นักดาราศาสตร์สามารถมองทะลุเข้าไปในดาวยักษ์แดง (Red Giant) S Orionis ดาวฤกษ์ซึ่งมีการยุบพองสลับกันไป ตั้งแต่ขนาดเท่าวงโคจรดาวอังคารไปจนถึงระยะบริเวณกึ่งกลางระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีภายในเวลา 410 วัน
เปรียบเทียบขนาดที่แปรเปลี่ยนได้ของ S Orionis กับระบบสุริยะชั้นใน
ดาวยักษ์แดงรายนี้สามารถขยายตัวจากขนาดเท่าดาวสีเหลือง (ในภาพ) ไปจนใหญ่ถึงดาวสีแดง (วงใน)
Credit: ESO
คณะนักวิจัยนำโดย David Boboltz จากหอสังเกตการณ์กองทัพสหรัฐอเมริกา (U.S.Naval Observatory) ใช้กล้องโทรทรรศน์ชนิดตรวจวัดการแทรกสอด(Interferometer Telescope) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Very Long Baseline Array (VLBA) อันเป็นกลุ่มกล้องโทรทรรศน์ 10 กล้องที่กระจายห่างกันภายในระยะ 8610 กิโลเมตร เพื่อใช้ตรวจวัดคลื่นวิทยุ ส่วนในย่านรังสีอินฟราเรดนั้นพวกเขาใช้ Very Large Telescope Interferometer (VLTI) ในประเทศชิลี
Boboltz อธิบายว่า สิ่งที่เห็นนี้เป็นอนาคตของดวงอาทิตย์ของเราในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า เมื่อดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่สภาพดาวยักษ์แดง Boboltz กล่าวว่า การสังเกตการณ์ดาวยักษ์แดงในย่านคลื่นวิทยุและรังสีอินฟราเรดนี้ถือว่าก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาเข้าไปในแต่ละชั้นของบรรยากาศดาวฤกษ์
ดาวยักษ์แดงที่ปลดปล่อยมวลเป็นเปลือกหุ้ม ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่าง S Orionis อาจก่อให้เกิดเนบิวลาดาวเคราะห์ดังภาพ
Credit: Astronomy
ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ความเป็นดาวยักษ์แดงเมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนใกล้หมดลง และเริ่มต้นหลอมนิวเคลียสธาตุฮีเลียมให้เป็นนิวเคลียสธาตุที่หนักขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้จะเกิด การวาบ (Flash) ของรังสีซึ่งจะทำให้ดาวขยายตัวใหญ่กว่าขนาดเดิมมากกว่า 100 เท่า แล้วพลักดันก๊าซและฝุ่นออกสู่อวกาศ สำหรับ S Orionis นี้ปลดปล่อยอนุภาคออกสู่อวกาศเป็นมวลรวมเท่ากับโลกทั้งดวงภายในเวลา 1 ปี Boboltz เสริมว่า สสารที่หนีออกมาจากแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์เหล่านี้ได้จะทำให้เกิดเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary Nebula) แต่ส่วนที่ไม่สามารถหนีออกมาได้จะตกกลับลงไปยังดาวฤกษ์แล้วกระตุ้นให้เกิดกระบวนการขยายตัวนี้อีกครั้ง
โดยทั่วไป แหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุและรังสีอินฟราเรดจะทำให้ S Orionis ดูเหมือนกลุ่มแสงเท่านั้น ดังนั้น พวกจึงวัด Maser หรือแสงเลเซอร์ที่ถูกสร้างขึ้นเองภายในธรรมชาติ ซึ่งนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ยังไม่มั่นใจนักว่า แสง Maser เกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่แต่หลักการพื้นฐานก็เป็นเช่นเดียวกับเลเซอร์ ซึ่งก็คือการจัดเรียงโมเลกุลที่ให้ผลผลิตเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นเดียวกันเข้มข้น ณ ความยาวคลื่นใดความยาวคลื่นหนึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของแต่ละโมเลกุล และด้วยการเฝ้าติดตาม Maser เป็นเวลาหลายเดือนพวกเขาพบรายละเอียดที่น่าสนใจของพฤติกรรมการสั่น (Pulsating) ของดาวยักษ์แดง
แสดงแต่ละระยะของดาวยักษ์แดง S Orionis วงกลมแดงแทนผิวดาวในขณะที่สีเขียวแสดงตำแหน่งของเปลือกฝุ่น
สองภาพแรก คือ ภาพในขณะที่ดาวยุบตัวลง ส่วนภาพที่สาม คือ ภาพที่ดาวขยายตัวจนใหญ่ที่สุด
Credit : ESO
กลุ่มวิจัยของ Boboltz วัดระยะของเปลือกก๊าซแต่ละชั้น ๆ รวมทั้งฝุ่นที่ล้อมรอบดาวฤกษ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือรายละเอียดที่เป็นปัจจุบันที่สุด พวกเขาพบว่าดาวยักษ์แดงมีชั้นฝุ่นของแร่ Corundum (สารประกอบที่ใช้ในกระดาษทราย) มีอยู่มากเป็นสองเท่าของค่าประมาณการ นอกจากนี้ยังพบว่า Corundum ผสมกับก๊าซ Silican Monoxide อันเป็นสารประกอลที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์คิดว่ามีอยู่ภายในฝุ่นด้านนอกของดาวยักษ์แดง
ในขั้นต่อไปพวกเขาจะศึกษาการสั่นของกลุ่มสารที่ห่อหุ้ม S Orionis ด้วยการวัด Maser จากโมเลกุลน้ำ ซึ่งอยู่ส่วนนอกสุด ด้วยความหวังว่าจะสามารถอธิบายวิธีการก่อตัวของเนบิวลาดาวเคราะห์จากดาวยักษ์แดงไปจนกว่าชีวิตของมันจะสิ้นสุดอยู่ที่ความเป็นดาวแคระห์ขาว (White Dwarf)
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
Key to Giant Space Sponge Revealed
July 13th, 2007
หนึ่งในดวงจันทร์ที่แปลกประหลาดที่สุดภายในระบบสุริยะ ดวงจันทร์ Hyperion หนึ่งในบริวารของดาวเสาร์ที่ผิวดวงจันทร์อุดมไปด้วยหลุมอุกกาบาตลึก จนดูราวกับฟองน้ำอวกาศขนาดยักษ์ และเพราะรูพรุนบนผิวนี้เองที่เป็นแหล่งเก็บข้อมูลวันเวลาดึกดำบรรพ์เมื่อครั้งแรกกำเนิดดวงจันทร์
นักวิจัยสรุปว่า ดวงจันทร์ Hyperion ประกอบด้วยน้ำแข็งและภายใต้ก้นบึ้งของหลุมอุกกาบาตเต็มไปด้วยวัสดุเหนียวหนืดสีแดงคล้ำซึ่งอาจจะเป็นกุญแจสำคัญไขไปสู่สมบัติอันผิดแปลกไปของดวงจันทร์ดวงนี้
ดวงจันทร์ Hyperion ถ่ายจากยานอวกาศคาสสินี เมื่อกุมภาพันธ์ 2548
Credit : NASA/JPL/Space Science Institute
Hyperion เป็นเทหวัตถุที่ไม่มีได้มีรูปร่างเป็นทรงกลมขนาดใหญ่ที่สุดภายในระบบสุริยะ มันมีขนาดคล้ายไข่ (Oval Shape) โดยมีส่วนที่กว้างมากที่สุดประมาณ 400 กิโลเมตร ที่แปลกไปจากบริวารดาวเคราะห์วงแหวนดวงอื่น ๆ ก็คือ มันไม่ถูกตรึงให้หันด้านเดิมเข้าหาดาวเสาร์ตลอดเวลาด้วยแรงไทดัล (Tidal Force) เหมือนอย่างระบบดวงจันทร์-โลก ที่หันดานเดียวเข้าหากันตลอด ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า การหมุนแบบอลหม่าน (Chaotic Rotation) ซึ่งก็คือ การหมุนที่แกนหมุนของวัตถุเปลี่ยนแปลงไปมา โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถคาดเดาการจัดตัวของแกนหมุนได้
ผิวดวงจันทร์ Hyperion เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตนับร้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 2 ถึง 10 กิโลเมตร ส่วนข้อมูลจากยานอวกาศคาสสินี (Cassini) ของนาซาระหว่างการบินผ่านดวงจันทร์ดังกล่าวเมื่อปี 2548 และ 2549 พบว่าประมาณร้อยละ 40 ของดวงจันทร์เป็นปริภูมิว่างเปล่า หรือดูราวกับมีแต่รูพรุนเหมือนฟองน้ำ ต่างจากอุกกาบาตที่พุ่งชนดวงจันทร์ของโลก ซึ่งจะทำให้เกิดหลุมลึกบนผิวดาวพร้อมทั้งทำให้ฝุ่นและหินฟุ้งขึ้นมา แล้วค่อย ๆ ตกกลับลงบนผิวดวงจันทร์อีกครั้ง หลุมอุกกาบาตหลุมอื่น หรือไม่ก็หลุมเดียวกัน ทว่าสำหรับ Hyperion เมื่อถูกพุ่งชนจนเกิดหลุมแต่กลับไม่มีวัสดุจากผิวดาวฟุ้งกระจายออกมา ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วหากวัตถุเป้าหมายมีความพรุนมากแล้ว หลุมอุกกาบาตทีเกิดขึ้นจะเกิดจากการบีบอัดพื้นผิวลงไป โดยไม่เกิดการระเบิดและสาดกระจายวัสดุออกมา Peter Thomas จาก Cornell University กล่าว
(ซ้าย) แสดงภาพในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตของดวงจันทร์ Hyperionซึ่งแสดงให้เห็นว่าผิวดาวมีน้ำแข็งปกคลุม
Credit : NASA/JPL/University of Colorado/Space Science Institute
Dale Cruickshank จากศูนย์วิจัย Ames Research Center สรุปว่า พื้นผิวส่วนใหญ่ของฟองน้ำอวกาศดวงนี้เป็นน้ำแข็ง โดยมีก้อนหินน้อยมาก ๆ แต่น้ำแข็งเหล่านั้นกลับไม่ค่อยสะท้อนแสงดวงอาทิตย์มากนัก จึงอาจจะเป็นน้ำแข็งปนเปื้อนสารอินทรีย์สีดำ ๆ หรือน้ำแข็งสกปรกแบบน้ำแข็งบนดาวหางนั่นเอง และนอกจากน้ำแข็งบนผิวแล้วก็ยังพบที่หลุมอุกกาบาตอีกหลายหลุม ส่วนวัสดุเหนียวหนืดสีแดงที่พบในหลุมอุกกาบาตเช่นกัน แท้จริงเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดโมเลกุลเรียงต่อกันยาวเหยียด ซึ่งพบได้บนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงอื่น ๆ ด้วย เช่น Iapetus ดวงจันทร์ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามของดาวเสาร์ Iapetus เป็นดวงจันทร์ที่มีซีกหนึ่งเป็นน้ำแข็งส่งประกายแต่อีกซีกกลับเคลือบด้วยวัสดุสีดำคล้ำลึกลับแบบเดียวกับที่พบในหลุมอุกกาบาตของ Hyperion
ดวงจันทร์ Iapetus ดวงจันทร์น้ำแข็งอีกดวงภายในระบบดาวเสาร์
Credit : NASA/JPL/Space Science Institute
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านคาดว่า การกำเนิดของดวงจันทร์พิสดารทั้งสองอาจมาจากแหล่งเดียวกัน
เมื่ออดีตอันแสงไกลอาจมีเทหวัตถุขนาดยักษ์พุ่งชน Hyperion ที่ยังเป็นทรงกลมอยู่ จนแกนหมุนผิดปกติจากการชนนั้น อีกทั้งยังสาดกระจายวัสดุลึกลับออกสู่อวกาศแล้วบางส่วนถูกดูดจับเอาไว้โดย Iapetus Cruickshank คาด Cruichshank ยังเสนออีกว่าอาจมีวัสดุสีแดงชนิดเดียวกันอยู่บนวัตถุน้ำแข็งภายในระบบสุริยะส่วนนอก รวมทั้งดวงจันทร์ หรือวัตถุในแถบคุยเปอร์ (Kuiper Belt Object) และดาวหาง
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
หลุมอุกกาบาตอาจช่วยไปปริศนาทังกัสกา
Crater Could Solve 1908 Tunguska Meteor Mystery
July 2nd, 2007
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2451 ลูกบอลเพลิงลูกหนึ่งระเบิดเหนือน่านฟ้ารัสเซีย ณ เขตป่าห่างไกลชุมชนในทังกัสกา ไซบีเรีย แรงระเบิดทำให้ต้นไม้ในพื้นที่กว่า 300 ตารางกิโลเมตร ต้องล้มลงนอนราบไปกับพื้น นักวิจัยคาดว่า การระเบิดครั้งนั้นเกิดจากอุกกาบาต แต่ทว่า กลับไม่สามารถค้นหาเศษชิ้นส่วนหินจากนอกโลกได้ในบริเวณดังกล่าว
ทะเลสาบ Cheko ทังกัสกา ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย
Credit : www-th.bo.infn.it/tunguska / University of Bologna
คณะนักวิจัยชาวอิตาลีคิดว่า พวกเขาพบหลักฐานที่หลงเหลือจากการระเบิดแล้วจากทะเลสาบ Cheko ลึก 50 เมตร ที่ห่างออกมาจากหลุมระเบิดทังกัสกาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 8 กิโลเมตร Giuseppe Longo นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโบโลญญา อิตาลี เผยว่าเมื่อสำรวจบริเวณก้นทะเลสาปดังกล่าว กลุ่มวิจัยของเขาพบว่า มีบางสิ่งบางอย่างสะท้อนคลื่นเสียงสะท้อนที่ใช้สำรวจภูมิประเทศ (Sonar) ออกมาอย่างผิดปกติ และพอจะสรุปได้ว่ารูปร่างของทะเลสาบนี้เหมือนกับหลุมอุกกาบาตที่ถูกชนโดยหินจากอวกาศความเร็วต่ำ
ภาพสามมิติจากการประมวลผลข้อมูลด้วย Sonar แสดงรูปร่างของทะเลสาบ Cheko ที่ถูกปกปิดไว้ด้วยน้ำ นักวิจัยเชื่อว่าทะเลสาปแห่งนี้เดิมคือหลุมอุกกาบาต
Credit : www-th.bo.infn.it/tunguska / University of Bologna
แต่เดิม การสำรวจในช่วงทศวรรษที่ 60 (ค.ศ. 1960-1969) สรุปว่าทะเลสาบ Cheko แห่งนี้ไม่ใช่หลุมอุกกาบาต แต่ก็เป็นด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว ดังนั้นเมื่อปี 2542 ทีมวิจัยของ Longo จึงไม่ได้มีแผนสำรวจทะเลสาบ Cheko ในฐานะหลุมอุกกาบาต แต่ต้องการค้นหาฝุ่นจากอุกกาบาต (Meteoroid dust) ที่ถูกทับถมไว้ภายใต้ดินตะกอน ขณะที่นักวิจัยใช้คลื่นเสียงสะท้อน (Sonar) เพื่อทำแผนภาพภูมิประเทศของทะเลสาบ พวกเขาก็พบว่า ทะเลสาปแห่งนี้มีรูปร่างคล้ายโคน (Cone) ดังนั้นพวกเขาจึง Longo ดำน้ำลงไปใต้ทะเลสาบบริเวณใจกลางแล้วเก็บตัวอย่างชั้นดินลึก 6 ฟุต ขึ้นมาวิเคราะห์ น่าเสียดายที่พวกเขาพบเพียงแต่ดินโคลนเละ ที่ทับถมกันมากอยู่เหนือ วัตถุเจ้าปัญหา ดังนั้น Longo จึงไม่บรรลุข้อสรุปที่หนักแน่นว่าทะเลสาบนี้เกิดจากการชนของอุกกาบาต อย่างไรก็ดีเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดพวกเขาต้องเจาะลึกลงไปสัก 10 เมตร เพื่อค้นหาสิ่งที่สะท้อนคลื่นที่ส่งลงไปโดยคาดเดากันว่า หากวัตถุนั้นมีอยู่จริงจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 ฟุต และมีน้ำหนัก 1,700 ตัน
บางสิ่งที่สะท้อนคลื่นโซนาร์ที่นักวิทยาศาสตร์ส่งลงไป (จุด T) พวกเขาคาดว่าน่าจะเป็นอุกกาบาต ที่ฝังตัวอยู่ก้นหลุม
Credit : www-th.bo.infn.it/tunguska / University of Bologna
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายท่านยังคงไม่มั่นใจในข้อสรุปของ Longo และคณะ บางคนให้ความเห็นว่าการที่มีวัตถุขนาดใหญ่และพลังงานสูงสามารถพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศลงมาแล้วระเบิดกลางอากาศ เหลือเพียงชิ้นส่วนจากการระเบิด ที่ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก โดยไม่ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่บนพื้นนั้น ยังคงเป็นข้อกังขา เพราะหลักการทางฟิสิกส์ทั่วไปยังสามารถหักล้างคำอธิบายของ Longo ได้ ทว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่มีหลุมอุกกาบาตหลายหลุมก็ถูกค้นพบทั่วโลกเช่นกัน เมื่อปี 2490 อุกกาบาต Sikhote-Alin ในรัสเซียทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก 100 หลุม โดยแต่ละหลุมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่อุกกาบาตขนาดใหญ่แตกตัวแล้วสร้างหลุมอุกกาบาตที่กลายเป็นทะเลสาปขนาดเล็กทั่วบริเวณ หากชิ้นส่วนที่แตกออกมาเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำย่อมมีโอกาสที่จะพบอุกกาบาตที่ถูกฝังไว้ใต้ผิวโลก
กลุ่มของ Longo มีแผนจะกลับไปยังทะเลสาบ Cheko อีกครั้งในฤดูร้อนครั้งต่อไป ในช่วงใกล้กับการเฉลิมฉลอง 100 ปี เหตุการณ์ ณ ทังกัสกา พวกเขาหวังว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวัตถุอวกาศที่มีผลกระทบต่อโลก และองค์ประกอบทางกายภาพของพวกมัน และจะนำไปสู่วิธีการปกป้องโลกจากเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในอนาคต
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------
Stars Have Earth-Like Weather
July 2nd, 2007
น่านฟ้าเหนือดาวฤกษ์อาจเหมือนกับท้องฟ้าบนดาวเคราะห์ ด้วยเมฆก๊าซที่กำลังลอยเลื่อนอยู่บนผิวดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าของโลก ต่างกันแต่เพียงเมฆเหล่านั้นเป็นปรอท (Mercury)
Oleg Kochukhov นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน และกลุ่มวิจัยของเขาใช้เวลากว่าเจ็ดปีในการศึกษาดาวฤกษ์ อัลฟา แอนโดรมีดี (Alpha Andromedae) ดาวที่สว่างที่สุดภายในกลุ่มดาวเจ้าหญิงแอนโดรมีดา (Andromeda) ดาวฤกษ์สีขาวฟ้า ดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 100 ปีแสง อุณหภูมิพื้นผิวเป็นสองเท่าของดวงอาทิตย์ ส่วนมวลและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางคิดเป็นสามเท่าของดวงอาทิตย์
แสดงการกระจายตัวของปรอทภายในชั้นบรรยากาศของ Alpha Andromedae แต่ละปี (แถวบน)
ส่วนแถวล่างคือการเปลี่ยนแปลงปริมาณของปรอทในแต่ละช่วงปี
Credit : Oleg Kochukhov/Uppsala University
โดยทั่วไป ดาวฤกษ์มักเกิดจุดบนผิวดาวโดยเชื่อว่าเกิดจากสนามแม่เหล็ก เหมือนจุดดับบนผิวดวงอาทิตย์ ทว่า Alpha Andromedae ไม่ใช่ดาวที่มีสนามแม่เหล็กรุนแรง ดังนั้น จุดที่ Kuchukhov และผู้ช่วยค้นพบเมื่อห้าปีก่อนจึงเป็นปริศนาข้อหนึ่ง
จนแล้วจนรอดนักวิจัยก็สามารถอธิบายได้ว่าจุดดังกล่าวคือเมฆที่กระจายไปทั่วท้องฟ้าของ alpha Andromedae นอกจากนี้ยังมีพลวัตรคล้ายกับรูปแบบสภาพอากาศบนดาวเคราะห์อีกด้วย
สภาพบรรยากาศดาวฤกษ์ทำนองนี้สามารถเกิดได้บนดาวฤกษ์ดวงอื่นที่มีสมบัติคล้าย Alpha Andromedae คือ ร้อนและมีมวลมาก มีอัตราการหมุนรอบตัวเองค่อนข้างช้า อย่าง Alpha Andromedae เองใช้เวลาหมุนรอบตัวเองถึง 60 ชั่วโมง หากหมุนเร็วเกินไปจะทำให้เมฆก๊าซแตกกระจาย Kochukhov กล่าวว่ามีดาวฤกษ์อีก 6 ดวงหรือมากกว่าที่อาจพบปรากฎการณ์ทำนองนี้บนผิวดาว อย่างเช่น AR Aurigae ที่อาจมีเมฆของธาตุ Strontium, Yttrium และ Platinum
กลุ่มดาวเจ้าหญิงแอนโดรมีดา Alpha Andromeda คือดาวสว่างที่สุดทางขวามือ
credit : http://www.pd.astro.it/costellazioni/costellazioni/andromedapag.htm
กระบวนการที่ทำให้เกิดการก่อตัวของเมฆโลหะเหล่านี้ยังไม่แน่ชัดนัก Kochukhov อธิบายว่า การรบกวนแบบสุ่มภายในชั้นบรรยากาศของดาวเป็นตัวสร้างเมฆเหล่านั้นคล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดบนโลก หรือไม่ก็แรงโน้มถ่วงจากดาวคู่ของ Alpha Andromedae เองเป็นตัวก่อกวนชั้นบรรยากาศ
การค้นพบสภาพอากาศบนดาวฤกษ์นี้อาจช่วยไขปริศนาข้อขัดแย้งของปริมาณปรอทและธาตุหนักอื่นๆ ภายในดาวฤกษ์ที่คล้ายกับ alpha Andromedae ซึ่งสำหรับดาวชนิดเดียวกันปริมาณธาตุต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศก็ควรจะคล้ายกัน แต่สิ่งที่พบคือความแตกต่างของปริมาณธาตุเดียวกันนับ 100 เท่า แต่เมื่อมีสภาพอากาศบนดาวฤกษ์ เมื่อเราตรวจวัดปริมาณธาตุปรอทหรือโลหะอื่น ๆ ในเวลาที่ต่างกันก็ย่อมได้ผลที่ต่างกันด้วยแล้วแต่ว่า ณ ขณะนั้น ๆ เมฆก๊าซมีปริมาณมากน้อยเพียงใด
กราฟ a แสดงความกว้าง Equivalent-width ของเส้นสเปคตรัมของไอออนปรอทที่ความยาวคลื่น 398.4 นาโนเมตร
ตามอัตราส่วนการหมุนรอบตัวเอง ส่วนกราฟ b เป็นกราฟที่เข้ากันได้กับข้อมูลแสดงความผันแปรของปริมาณปรอทภายในชั้นบรรยากาศแต่ละบริเวณ
Credit : Kochukhov et al
Kochukhov ยังเสริมอีกว่า Alpha Andromedae และดาวฤกษ์อื่น ๆ ที่คล้ายกันถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งในการทำความเข้าใจต้นกำเนิดของธาตุ ขณะที่ธาตุหนักซึ่งพบได้มากบนดาวฤกษ์ชนิดนี้กลับพบได้น้อยมากในดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ สภาพอากาศดาวฤกษ์อาจเป็นแสงส่องทางสำคัญในการอธิบายว่าธาตุต่าง ๆ ผสมรวมกันภายในดาวฤกษ์ได้อย่างไร
เรียบเรียงโดย : วัชราวุฒิ กฤตินธรรม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
----------------------------------------------------------