เดือนกุมภาพันธ์ 2552

February 2009

ลมดาวฤกษ์รุนแรงที่เนบิวลา Carina



Febuary 20th, 2009
Adapted From  eso.org : Strong Winds over the Keel,  Carina Nebula shown in colourful detail



ฝนภาพถ่ายชุดล่าสุดจากหอสังเกตการณ์ท้องฟ้าซีกใต้ยุโรป(European Southern Observatory) เผยรายละเอียดอันน่าอัศจรรย์ ของเนบิวลาที่ใหญ่และสว่างที่สุดในท้องฟ้า เนบิวลา Carina (NGC 3372)  ที่ซึ่งมีลมดาวฤกษ์หรือกระแสอนุภาคมีประจุ และการแผ่รังสีจากดาวฤกษ์มวลมาก จำนวนมหาศาลภายในบริเวณดังกล่าว สร้างความหายนะให้กับเมฆฝุ่นและก๊าซขนาดใหญ่ ที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์


 
ภาพถ่ายเนบิวลา Carina เปิดเผยรายละเอียดของดาวฤกษ์และฝุ่น   Credit: ESO


ภาพถ่ายดังกล่าวแสดงส่วนหนึ่งของท้องฟ้าที่ถูกระบายเป็นปื้นด้วยกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อย  เนบิวลาขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยฝุ่นและก๊าซ ฝุ่นอวกาศที่เกาะกลุ่มจนดูเหมือนเสาในอวกาศ  กลุ่มสสารระหว่างดาวรูปร่างทรงกลมเล็กๆ และระบบดาวคู่ที่น่าประทับใจที่สุดในเอกภพ    ภาพถ่ายนี้เกิดจากการถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงทั้งหกชนิดของกล้อง Wide Field Imager(WFI) ซึ่งติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์  ESO/MPG  ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกปฐมภูมิถึง 2.2 เมตร   กล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ติดตั้งอยู่ที่หอสังเกตการณ์ La Silla ประเทศชิลี
เนบิวลา Carina อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7500 ปีแสง ภายในกลุ่มดาว Carina(กระดูกงูเรือ)   มันเป็นกลุ่มก๊าซแผ่กระจายกินพื้นที่กว้างประมาณ 100 ปีแสง    คิดเป็นสี่เท่าของเนบิวลา Orion  อันเป็นที่รู้จักมากเนบิวลาหนึ่ง อีกทั้งยังสว่างกว่าเนบิวลา carina มาก
เนบิวลา Carina เป็นบริเวณที่มีอัตราการเกิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่สูงแห่งหนึ่ง ด้วยฝุ่นอุณหภูมิต่ำที่เกาะกลุ่มเป็นแนวแบ่งก๊าซเรืองแสงภายในเนบิวลาซึ่งหุ้มห่อกระจุกดาวฤกษ์เอาไว้

 



แสดงส่วนประกอบของเนบิวลา Carina credit:HST ACS/WFC


แสงเรืองของเนบิวลา Carina มาจากก๊าซไฮโดรเจนร้อนที่ถูกรังสีจากดาวฤกษ์มวลมากที่พึ่งเกิดใหม่  อันตรกิริยาระหว่างก๊าซไฮโดรเจนและแสงอัลตราไวโอเลตทำให้เกิดแสงสีแดงและม่วง   ภายในกลุ่มม่านเมฆนี้บรรจุดาวฤกษ์หลายสิบดวงที่มีมวลอย่างน้อย 50 ถึง 100 เท่า ของมวลดวงอาทิตย์  ดาวฤกษ์เช่นว่านั้นมีช่วงชีวิตที่ค่อนข้างสั้น เพียงแค่ไม่กี่ล้านปีเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ที่มีอายุประมาณ 10,000 ล้านปี 
หนึ่งในดาวฤกษ์ที่น่าสนใจที่สุดในเอกภพคือ  Eta Carinae  ซึ่งถูกพบในเนบิวลานี้ มันเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์มวลมากดวงหนึ่งในกาแลกซีทางช้างเผือก(Milky Way)  มีมวลเกินกว่า 100 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และมีความสว่างกว่าถึง 4,000,000 เท่า  ทำให้มันเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก    Eta Carinae  มีความไม่เสถียรค่อนข้างมาก  และมีแนวโน้มที่จะระเบิดออกอย่างรุนแรง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งซูเปอร์โนวาเทียมที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.  2385  เป็นเวลาเพียงไม่กี่ปี  Eta Carinae  กลายเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับสองภายในท้องฟ้ายามราตรี  และให้แสงสว่างราวกับซูเปอร์โนวา(supernova)  ที่เป็นการระเบิดครั้งสุดท้ายของดาวฤกษ์ซึ่งสิ้นอายุขัย  ทว่าหลังจากการระเบิดครั้งนั้น  Eta Carinae ยังคงรอดชีวิตอยู่  



 
เนบิวลา Carina และดาวฤกษ์ Eta Carina  ณ ใจกลาง
Credit: W. Blair, JHU. : Loke Kun Tan (StarryScapes). HST image, J Morse and NASA.


นักวิทยาศาสตร์คาดว่า Eta Carinae อาจมีดาวอีกดวงหนึ่งเป็นคู่หู ที่โคจรรอบกันและกันเป็นวงรี และใช้เวลาโคจรครบรอบภายในเวลา 5.54 ปี   ดาวทั้งสองมีลมดาวฤกษ์ที่รุนแรง เมื่อกระแสอนุภาคจากดาวฤกษ์ทั้งสองปะทะกัน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ  โดยเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ระบบดาวคู่ Eta carinae สมาชิกทั้งสองจะเข้าใกล้กันมากที่สุด   ซึ่งการปะทะกันของลมดาวฤกษ์ก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสอันดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ใช้อุปกรณ์ของกล้องโทรทรรศน์ของ ESO เพื่อศึกษาโครงสร้างของลมดาวฤกษ์ดังกล่าว
 


ไททันกับฝนมีเทน


Febuary 12th, 2009
Adapted From  space.com : On Titan: It's Raining Methane


มันมีฝนมีเทนเหลว(liquid methane) บนดวงจันทร์ไททัน(Titan)  ซึ่งสืบเนื่องมาจากภาพถ่ายที่บ่งบอกความเป็นไปได้ที่จะมีทะเลสาบในบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบดาวเสาร์(Saturn)
ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5,150 กิโลเมตร  ไททันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ(Mercury) และคิดเป็นร้อยละ 40 ของเส้นผ่านศูนย์กลางโลก

 


เปรียบเทียบชั้นบรรยากาศของโลกกับดวงจันทร์ไททันที่ระดับความสูงจากพื้นดินต่างๆ 
Credit: NASA/JPL


มันเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่นคล้ายดาวเคราะห์ โดยมีความหนาแน่นเป็น 10 เท่าของชั้นบรรยากาศโลก)   ร่องรอยที่น่าจะเป็นทะเลสาบแห่งใหม่ปรากฏขึ้นในภาพถ่ายจากยานอวกาศคาสสินี(Cassini)เมื่อปี 2548 โดยระบบถ่ายภาพ Imaging Science Subsystem (ISS) ซึ่งภาพถ่ายในบริเวณเดียวกันเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น กลับไม่ปรากฏจุดดำดังกล่าว  นักวิทยาศาสตร์คิดว่าคำอธิบายที่ดีที่สุดของจุดดำที่ปรากฏขึ้นมาทันทีทันใดก็คือ “ฝนมีเทน” ที่ตกลงมาเติมลงไปในทะเลสาบ
ข้อสรุปข้างต้นตีพิมพ์รายละเอียดลงในวารสาร Geophysical Research Letters ฉบับวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา  ซึ่งยืนยันแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์หลายคน ผู้คาดว่ามีทะเลสาบมีเทนบนดวงจันทร์ไททัน เช่นเดียวกับฝนมีเทน
ผลการวิเคราะห์ครั้งใหม่โดย Elizabeth Turtle(และคณะ) ผู้ประสานงานแผนกถ่ายภาพโครงการคาสสินี  ณ ห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์(Applied Physics Lab) ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์(Johns Hopkins University)  ในเมือง Laurel มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา  ให้หลักฐานสำหรับเชื่อมโยงฝนมีเทนกับทะเลสาบที่ปรากฏตัวอย่างฉับพลันบนผิวไททัน



 
ภาพถ่าย Ontariou Lacus บนดวงจันทร์ไททัน(ภาพขวา) จากระยะห่าง 1,100 กิโลเมตร แสดงบริเวณที่เป็นชายหาด(ล่างขวา)
ใต้แนวเส้นอ่างเก็บของเหลว ภาพซ้ายเป็นภาพทะเลสาบเมื่อมิถุนายน 2548
Credit: Right Image - NASA/JPL/University of Arizona; Left image - NASA/JPL/Space Science Institute.


คณะทำงานของ Turtle  บันทึกแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้สำหรับ “ฝน” โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Keck  ตรวจพบกลุ่มเมฆขนาดใหญ่เหนือขั้วใต้ของไททันเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ภาพถ่ายของคาสสินีเองก็แสดงระบบเมฆเหนือบริเวณขั้วใต้ระหว่างนั้นเช่นกัน  พวกเขาพบว่าเมฆที่แปรเปลี่ยนเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง ราวกับเมฆที่ถูกพัดพา เช่นเดียวกับเมฆในช่วงพายุฝนฟ้าคะนองบนโลก Turtle เสริมว่าปื้นสีดำบนพื้นที่เห็นอาจเป็นมีเทนที่มาจากกลุ่มเมฆ ที่เห็นเมื่อเดือนตุลาคม 2547
นอกจากบริเวณขั้วใต้แล้ว คณะทำงานของ Turtle ยังศึกษาภาพถ่ายบริเวณขั้วเหนือของไททันเมื่อปี 2551 เปรียบเทียบกับขั้วใต้กับขั้วเหนือก็ยิ่งช่วยยืนยันว่ามีแหล่งกักเก็บมีเทนเหลวในบริเวณซีกเหนือซึ่งใหญ่กว่าบริเวณซีกใต้



 
ภาพถ่ายจากยานคาสสินีแสดงบริเวณขั้วใต้ของไททัน  พื้นที่สีดำที่ไม่เคยปรากฏ(วงกลม)และมีเมฆ(สีขาว) เมื่อปี 2547 แต่กลับมีปื้นสีดำขึ้นในปี 2548  พร้อมทั้งการหายไปของเมฆ แสดงว่ามีฝนมีเทนจากเมฆตกลงไปจนกลายเป็นทะเลสาบเบื้องล่าง
Credit: NASA/JPL/Space Science Institute.


โดยแหล่งเก็บมีเทนเหลวในขั้วเหนือจะใหญ่ขึ้นในช่วงฤดูร้อนของซีกเหนือ และพายุกลั่นเมฆให้เป็นไฮโดรคาร์บอนเหลว(liquid hydrocarbons) ในพื้นที่ดังกล่าว  ทะเลสาบทางซีกเหนือมีพื้นที่ถึง 510,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของทะเลแคสเปียน(Caspian Sea) บนโลก
คำถามหนึ่งก็คือ ทะเลสาบบนไททันจะเติมก๊าซไฮโดรคาร์บอนในชั้นบรรยากาศไททันหรือไม่  เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศไททันทำลายก๊าซไฮโดรคาร์บอนตามเวลาที่เปลี่ยนไป   แม้ว่าจะมีมีเทนเติมเต็มแหล่งเก็บดังกล่าว แต่ก็ยังไม่พอที่จะรักษาสภาพชั้นบรรยากาศของไททันให้เป็นอย่างทุกวันนี้ ไว้ได้นานกว่า 10 ล้านปี  เมื่อรวมกับผลการวิเคราะห์ครั้งก่อน อาจเป็นไปได้ว่ามีแหล่งเก็บมีเทนเหลวอยู่ใต้ผิวไททัน งบประมาณของโครงการคาสสินีจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2553 ทว่านักวิทยาศาสตร์คิดว่ายานอวกาศลำนี้สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลที่ทรงคุณค่า และถ่ายภาพได้อีกเป็นเวลาหลายปี เดือนหน้าคณะทำงานประจำโครงการนี้คาดว่าจะส่งข้อเสนองานวิจัยต่อสำนักงานใหญ่ของ NASA เพื่อขยายเวลาปฏิบัติภารกิจออกไปอีก 7 ปี รวมทั้งของบประมาณเพิ่มด้วย



          ----------------------------------------------------------
         ยานอวกาศ Stardust ครบรอบ 10 ปี


Febuary 12th, 2009
Adapted From  space.com : Stardust Spacecraft Turns 10


7 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันฉลองครบรอบวันส่งยานอวกาศ Stardust  ขององค์การบริหารการบินและอวกาศหรือ NASA ขึ้นสู่อวกาศ  ครบรอบ 10 ปี  ในขณะที่ยานอวกาศลำนี้อยู่ห่างจากโลกมากกว่า 13.5 ล้านกิโลเมตร
นับแต่วันส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542  ยาน Stardust  เดินทางเป็นระยะ 4.8 พันล้านกิโลเมตร ในช่วง 7 ปีแรกก่อนที่จะส่งตัวอย่างสสารจากดาวหางมายังโลก


 


แสดงอนุภาคที่พุ่งเข้าชนกับกรอบอลูมิเนียมที่รองรับแผ่น aerogel  เศษชิ้นส่วนจากการชนพุ่งเข้าไปยังแผ่น aerogel แผ่นถัดไปทำให้เกิดรูปแบบของการระเบิดจากชิ้นส่วนวัสดุที่ดักเก็บได้จากอวกาศหรือดาวหาง
Credit: NASA/JPL


อุปกรณ์ดักเก็บสะสมซึ่งประกอบด้วยแผง aerogel เรียงกันคล้ายแรกเกตเทนนิส  มีหน้าที่ดักจับอนุภาคที่พุ่งผ่านเข้ามาด้วยอัตราเร็ว 6 เท่าของกระสุนปืนไรเฟิล ขณะที่ยานอวกาศอยู่ห่างจากดาวหาง Wild 2 เมื่อเดือนมกราคม 2547  แล้วส่งตัวแคปซูลดักจับกลับมายังโลก  โดยแคปซูลดังกล่าวได้กลับลงสู่ผิวโลกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 ในมลรัฐยูทาห์(Utah) สหรัฐอเมริกา 



 
ภาพถ่ายแสดงฝุ่นจากดาวหางที่เก็บโดยยานอวกาศ Stardust  อนุภาคที่ประกอบขึ้นจากแร่ซิลิเกตจำพวก forsterite
ซึ่งพบได้บนโลก ในอัญมณีที่ชื่อ peridot  Credit: NASA/JPL


ภายในแคปซูลบรรจุอนุภาคจากดาวหางและจากอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ อันเป็นภารกิจนำวัสดุในอวกาศนอกดาวเคราะห์ซึ่งถัดออกไปจากวงโคจรดาวอังคาร(Mars) กลับมายังโลกได้สำเร็จเป็นโครงการแรก  ปัจจุบันแคปซูลลูกนี้ตั้งแสดงอยู่ที่ห้องจัดแสดงหลักไมล์แห่งการบิน(Milestones of Flight Gallery) ของพิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติ  ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา
ด้วยความสมบูรณ์ของปฏิบัติการณ์ขั้นแรก  NASA จึงร่างปฏิบัติการณ์ใหม่ต่อจาก Stardust เรียกว่าโครงการStardust-NExT  ซึ่งย่อมาจาก  Stardust New Exploration of  Tempel   โครงการ Stardust-NExT เป็นภารกิจต้นทุนต่ำที่เป็นส่วนขยายต่อมาจากโครงการศึกษาดาวหาง Tempel 1 ซึ่งเริ่มต้นไว้ก่อนแล้วโดยยานอวกาศ Deep Impact




 
แคปซูลเก็บตัวอย่างฝุ่นจากอวกาศกำลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
Credit: NASA/Ames Research Center


ปฏิบัติการณ์ส่วนต่อขยายมีงานให้ยานอวกาศ Stardust บินผ่านดาวหาง Tempel 1 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ในช่วงที่บินผ่านนี้ มันจะถ่ายภาพส่วนโคมา(Coma) หรือบรรยากาศรอบๆ นิวเคลียส(nucleus) ของดาวหาง รวมทั้งตัวนิวเคลียสเองด้วย  พร้อมๆ ไปกับการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี  การกระจายตัวและกระแสของฝุ่นที่ถูกพ่นออกมาจากนิวเคลียสกลายเป็นโคมา
ผู้วางแผนภารกิจนี้หวังว่า Stardust-NExT จะให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญในการอธิบายวิวัฒนาการของดาวหางในวงศ์พฤหัสบดี(Jupiter-family comet) และการถือกำเนิดของพวกมันเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน



          ----------------------------------------------------------

 

หลุมดำใจกลางกาแลกซี Centaurus A


Febuary 6th, 2009
Adapted From  eso.org : Black hole outflows from Centaurus A detected with APEX


นักดาราศาสตร์เผยภาพใจกลางกาแลกซีกัมมันต์(active galaxy) Centaurus A หรือ NGC 5128 ขณะที่ลำก๊าซความเร็วสูง(jet)  กับพวยก๊าซ ถูกยิงออกมาจากหลุมดำใจกลางกาแลกซี  แผ่รังสีในช่วงความยาวคลื่นไม่เกินกว่า  1  มิลลิเมตร เป็นครั้งแรก
ข้อมูลใหม่ล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์ Atacama Pathfinder Experiment (APEX) ในประเทศชิลี  ซึ่งควบคุมการทำงานโดยหอสังเกตการณ์ซีกฟ้าใต้แห่งยุโรป(European Southern Observatory : ESO) เมื่อนำมารวมกับข้อมูลในช่วงคลื่นรังสีที่ตามนุษย์มองเห็น(visible)และรังสีเอกซ์(x-ray)   ก็จะได้มุมมองใหม่
 


ภาพ Centaurus A แสดงพวยก๊าซและลำมวลสารจากใจกลางกาแลกซี ภาพนี้เกิดจากการนำภาพในช่วงสามความยาวคลื่นได้แก่ The 870-micron submillimetre(สีส้ม) , X-ray จากกล้อง Chandra X-ray Observatory (น้ำเงิน) และแสงในย่านที่ตามนุษย์มองเห็น Credit: ESO/WFI (Optical); MPIfR/ESO/APEX/A.Weiss et al. (Submillimetre); NASA/CXC/CfA/R.Kraft et al. (X-ray)

Centaurus A เป็นกาแลกซีขนาดใหญ่ที่ใกล้กับกาแลกซีทางช้างเผือก ด้วยระยะห่างประมาณ 13 ล้านปีแสง ไปทางทิศทางกลุ่มดาว Centaurus  ซึ่งเป็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้    กาแลกซี Centaurus A เป็นกาแลกซีทรงรี(elliptical galaxy) ซึ่งกำลังรวมเข้ากับกาแลกซีแขนเกลียว(spiral galaxy)  ทำให้มีย่านที่เกิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่ก่อตัวขึ้น
Centaurus A มีใจกลางกาแลกซีที่สุกสว่าง และเต็มไปด้วยปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่แผ่รังสีออกมาอยู่เนืองๆ  อันเนื่องมาจากหลุมดำมวลยวดยิ่ง(supermassive black hole)  และเป็นแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์และคลื่นวิทยุความเข้มสูง


 
Centaurus A ในย่านความยาวคลื่นต่างๆ  Credit: X-ray (NASA/CXC/M. Karovska et al.); Radio 21-cm image (NRAO/VLA/Schiminovich, et al.),
Radio continuum image (NRAO/VLA/J.Condon et al.); Optical (Digitized Sky Survey, U.K. Schmidt Image/ STScI)


ในภาพ เราจะเห็นวงแหวนฝุ่นล้อมรอบกาแลกซียักษ์   รวมทั้งลำคลื่นวิทยุความเร็วสูงจากใจกลางกาแลกซี อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีหลุมดำมวลยวดยิ่งที่ใจกลางกาแลกซี Centaurus A    ในภาพแสงความยาวคลื่นต่ำกว่า 1 มิลลิเมตร เราจะไม่เห็นเพียงแค่การเรืองแสงเนื่องจากความร้อนของใจวงแหวนฝุ่นที่ใจกลาง  แต่ยังเห็นการแผ่รังสีจากแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุในช่วงความยาวคลื่นต่ำกว่า 1 มิลลิเมตรเป็นครั้งแรกด้วย  โดยภายในพวยก๊าซทางเหนือและใต้ของระนาบกาแลกซีก็มีคลื่นวิทยุชนิดนี้ออกมาเช่นกัน
การแผ่คลื่นวิทยุความยาวคลื่นต่ำกว่า  1 มิลลิเมตร เกิดขึ้นเมื่ออิเลคตรอน(electron) พลังงานสูง(ความเร็วสูง) โคจรเป็นเกลียวรอบเส้นสนามแม่เหล็ก ซึ่งทำให้เห็นเป็นวัสดุภายในลำมวลสารที่เคลื่อนที่ออกมาด้วยอัตราเร็วครึ่งหนึ่งของอัตราเร็วแสงในสุญญากาศ   
ในย่านรังสีเอกซ์ เราพบลำก๊าซจากใจกลาง Centaurus A และ ทางด้านมุมล่างขวาของกาแลกซี พบแสงเรืองอันเนื่องมาจากพวยก๊าซที่ถูกพ่นออกมาพุ่งเข้าชนกับก๊าซที่อยู่ในอวกาศโดยรอบ ก่อให้เกิดคลื่นกระแทก(shockwave)


 
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ The Atacama Pathfinder Experiment (APEX) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร  ณ ทะเลทรายอาตากามา  ประเทศชิลี. Credit: ESO

กล้อง Large APEX Bolometer Camera (LABOCA) ถูกสร้างขึ้นโดยสถาบันมักซ์-พลังค์ เพื่อดาราศาสตร์วิทยุ(MPIfR) และติดตั้งกับกล้อง APEX  ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร ที่ถูกติดตั้งบนที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร ใน Chajnantor ทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี   APEX เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง MPIfR  หอสังเกตการณ์ Onsala Space Observatory และ ESO

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------