เดือนสิงหาคม 2552

August 2009

ข่าวด้านอวกาศ และดาราศาสตร์ ....

ดาวฤกษ์ภายนอกบีบอัดเมฆก๊าซกระตุ้นดาวฤกษ์ใหม่
August 27th, 2009

                    
ภาพถ่ายกลุ่มเมฆก๊าซกลางอวกาศที่อุดมไปด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยเสนอหลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการก่อกำเนิดดาวฤกษ์  นักวิทยาศาสตร์พึ่งรวมภาพถ่ายจากหอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา(Chandra X-ray Observatory)  กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์(Spitzer Space Telescope) เพื่อศึกษาเมฆก๊าซ  Cepheus B ที่อยู่ห่างจากโลกถึง 2,400 ปีแสง ภายในกาแลกซีทางช้างเผือกของเราเอง
เมฆก๊าซประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ และฝุ่นอวกาศ


ภาพถ่ายเชิงประกอบซึ่งเกิดจากการรวมข้อมูลรังสีเอกซ์โดย กล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์จันทรา  
กับข้อมูลรังสีอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ แสดงเมฆโมเลกุล Cepheus B 
Credit: X-ray (NASA/CXC/PSU/K. Getman et al.); IR (NASA/JPL-Caltech/CfA/J. Wang et al.)

 ภายในมีดาวฤกษ์อายุน้อยสุกสว่างซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ภายนอกกลุ่มเมฆ  ดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวคือ HD 217086 แผ่รังสีอันเข้มข้นพุ่งเข้าหาบริเวณข้างเคียง   ขณะที่รังสีพุ่งเข้าใส่ จะทำให้ก๊าซที่บริเวณด้านนอกของกลุ่มเมฆร้อนและระเหยออกไป  อีกทั้งยังส่งคลื่นมาผลักดันกลุ่มเมฆให้อัดแน่นมันมากยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดดาวฤกษ์จากการเพิ่มความหนาแน่นของก๊าซภายในนั่นเอง 

จากผลการสังเกตการณ์ช่วยให้นักดาราศาสตร์ประมาณอายุของดาวฤกษ์อายุน้อยๆ หลายดวง และสนับสนุนทฤษฎีการก่อตัวของดาวฤกษ์   ก๊าซชั้นในของ Cepheus B เป็นบริเวณที่นักวิทยาศาสตร์พบดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ที่มีอายุประมาณ 1 ล้านปี และประมาณร้อยละ 70 หรือ 80 ของดาวฤกษ์ดังกล่าวมี “วงแหวนมวลสารก่อนเป็นดาวเคราะห์” (protoplanetary disk) ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิธีการสร้างดาวเคราะห์ รวมทั้งเป็นสัญญาณบอกว่าดาวฤกษ์ดวงใดๆ เป็นดาวฤกษ์อายุน้อย 




ภาพถ่ายเชิงประกอบซึ่งเกิดจากการรวมข้อมูลรังสีเอกซ์โดย กล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์จันทรา  
 (Credit: X-ray (NASA/CXC/PSU/K. Getman et al.)


 


ภาพจำลองแสดงวงแหวนมวลสารรอบดาวฤกษ์ที่พึ่งถือกำเนิด วงแหวนนี้จะวิวัฒนาการไปเป็นดาวเคราะห์ในที่สุด Credit: ESO.

 
ในก๊าซชั้นกลางและส่วนนอกของกลุ่มเมฆก๊าซ  ดาวฤกษ์จะมีอายุมากขึ้นโดยมีอายุในช่วง 2 ล้าน ถึง 5 ล้าน ปี และไม่ค่อยพบวงแหวนมวลสารก่อนเป็นดาวเคราะห์

ถ้าดาวฤกษ์มวลมากภายนอก  Cepheus B  เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของดาวฤกษ์ภายในกลุ่มเมฆก๊าซจริง นักวิทยาศาสตร์คาดว่าดาวฤกษ์ที่อายุมากขึ้นจะโคจรออกมาจากศูนย์กลางกลุ่มเมฆ 

ดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่เกิดจากดาวฤกษ์ร้อนแรงด้านนอกบีบอัดก๊าซจะอยู่ภายในศูนย์กลาง   มีเพียงดาวฤกษ์อายุมากอยู่บริเวณด้านนอก ที่ซึ่งคลื่นความดันผ่านไปนานแล้ว  และรังสีของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่บีบอัดดาวฤกษ์ที่พึ่งถือกำเนิด

กลไกกระตุ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคำอธิบายว่าดาวฤกษ์กำเนิดอย่างไร  ในสถานการณ์อื่นๆ ดาวฤกษ์จะเกิดขึ้นเมื่อก๊าซอุณหภูมิต่ำและควบแน่นภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวกลุ่มก๊าซเอง

Source: Space.com, Big Squeeze Creates New Stars in Cosmic Cloud

ปริศนาอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโคโรนา
August 24th, 2009

                    
ปริศนาประการหนึ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิในโคโรนา(corona) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ซึ่งร้อนผิดปกติ  เมื่อชั้นบรรยากาศบริเวณใกล้ดวงอาทิตย์อย่างโฟโตสเฟียร์(photosphere) มีอุณหภูมิประมาณ 5,500  เคลวิน (Kelvin) ส่วนโครโมสเฟียร์ (chromospheres)  มีอุณหภูมิ 7,000 – 15,000 เคลวิน แต่ทว่าอุณหภูมิในโคโรนากลับสูงถึงหลายล้านเคลวินเลยทีเดียว



แผนภูมิแสดงอุณหภูมิ และความหนาแน่นของก๊าซที่ระดับความสูงจากส่วนบนของโฟโตสเฟียร์ดวงอาทิตย์  
credit: http://history.nasa.gov/SP-402/p2.htm



ดังนั้นจะต้องมีกลไกทางกายภาพบางกลไกที่ให้ความร้อนแก่โคโรนา ทว่ากลไกดังกล่าวยังคงเป็นปริศนา อย่างไรก็ตามมีสองทฤษฎีที่กำลังขันแข่งกันอยู่  ได้แก่
1)    ทฤษฎีการให้ความร้อนด้วยคลื่น(wave heating)     ซึ่งถูกนำเสนอโดย Evry Schatzmann เมื่อปี ค.ศ. 1949 ว่ามีคลื่นพาพลังงานผ่านโครโมสเฟียร์มายังโคโรนา [1]  ซึ่งคลื่นดังกล่าวอาจเป็นคลื่นเสียงเชิงแม่เหล็ก (magneto-acoustic wave) ที่เดินทางในสนามแม่เหล็ก และคลื่นอัลเฟน (Alfven wave) ที่เดินทางในก๊าซร้อนมีประจุหรือพลาสมา(plasma)  คลื่นทั้งสองจะเดินทางจากโฟโตสเฟียร์ ผ่านโครโมสเฟียร์จนถึงโคโรนาแล้วกลายเป็น “คลื่นกระแทก (shock wave)”  ที่ให้พลังงานออกมาในรูปความร้อน[2][3]  อย่างไรก็ดีปัญหาของทฤษฎีนี้คือการตรวจวัดจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันอย่าง  หอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ SOHO ก็ยังไม่สามารถค้นหา “คลื่น” ที่คาดว่าจะเป็นตัวการพาพลังงานไปให้โคโรนา  เนื่องจากแม้จะค้นพบคลื่นบางชนิด เช่นคลื่น magneto-acoustic ความถี่ 1 มิลลิเฮิรตซ์ ที่พาพลังงานไปให้โคโรนาเพียงแค่ร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่จำเป็นในการทำให้โคโรนาร้อน  คลื่น Alfven จากการลุกจ้า(solar flare) ก็ไม่ได้เกิดอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถอธิบายความร้อนของโคโรนาที่ค่อนข้างสม่ำเสมอได้  [4]


แสดงชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์(ซ้าย) และบ่วงแม่เหล็กจากผิวดวงอาทิตย์(ขวา)  Credit: IYA2009, FETTU, SOHO/EIT consortium of NASA and ESA, Trace Team of the Stanford-Lockheed Institute for Space Research, NASA.


2)    ทฤษฎีการลุกจ้าระดับหนึ่งในพันล้าน (nanoflares) หรือการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก (magnetic reconnection)   การเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็กเกิดจากกระแสพลาสมาที่บีบให้เส้นสนามแม่เหล็กที่ทิศทางสวนกันขาดและต่อกันใหม่ การเชื่อมและต่อติดใหม่นี้ทำให้พลังงานที่เก็บไว้ในเส้นสนามแม่เหล็กถูกปลดปล่อยออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นแสงในย่านที่ตามนุษย์มองเห็น หรือแม้แต่คลื่นวิทยุ  [5] โดยทั่วไปการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็กเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลุกจ้าของดวงอาทิตย์(solar flare)  ที่พบได้ในบริเวณใกล้ๆ จุดมืด(sunspot) ของดวงอาทิตย์  อย่างไรก็ดี nanoflare  เป็นการลุกจ้าที่เกิดขนาดเล็กจำนวนมากภายในแผ่นกระแส(current sheets ขนาดเล็ก)   โดยเกิดการประทุชั่ววูปที่มีขนาดเล็กแต่ก็สามารถปลดปล่อยพลังงานและความร้อนออกมา  




การเชื่อมต่อใหม่ของเส้นสนามแม่เหล็กทำให้เกิดการลุกจ้าของดวงอาทิตย์(solar flare) บริเวณ magnetic reconnection
credits: Proto solar nebula: Spitzer Space Telescope

เป็นเวลานานกว่า 50 ปี ไม่มีทฤษฎีใดสามารถอธิบายปริศนาอุณหภูมิสูงยวดยิ่งของโคโรนาได้  จึงมีความคิดว่าบางทีการรวมทฤษฎีทั้งสองอาจอธิบายปรากฏการณ์ปริศนานี้อย่างไรก็ตามรายละเอียดของทฤษฎียังไม่สมบูรณ์นัก[4]

“บ่วงโคโรนา (corona loop)” เป็นโครงสร้างมัดสนามแม่เหล็กเกลียวที่กักพลาสมาไว้ภายใน แล้วโค้งขึ้นไปจากโฟโตสเฟียร์ โครโมสเฟียร์ จนถึงโคโรนา พลาสมาในโครโมสเฟียร์จะถูกกักไว้ภายในบ่วงโคโรนาและถูกพาขึ้นไปปล่อยไว้ในในบรรยากาศชั้นโคโรนา  ก๊าซมีประจุหรือ พลาสมาอุณหภูมิสูงที่พบในโคโรนาจึงอาจจะมาจากบ่วงโคโรนานี้เอง [6]  ซึ่งอุณหภูมิของก๊าซภายในบ่วงโคโรนามีอุณหภูมิมากกว่า 1 ล้านเคลวิน ขึ้นไป ทว่ากลไกการให้ความร้อนของบ่วงโคโรนาและความหนาแน่นของก๊าซยังคงเป็นปริศนา



นักวิทยาศาสตร์สนใจว่าบ่วงโคโรนาได้รับความร้อนแบบใดซึ่งจะช่วยในการตอบคำถามของอุณหภูมิในโคโรนาด้วย  มีแนวคิดสองแบบคือ  “การให้ความร้อนแบบสม่ำเสมอ (steady heating)” หรือเป็น “การให้ความร้อนแบบเป็นห้วง (impulsive heating)”  ผลการสังเกตการณ์บ่วงโคโรนาที่สั้นและอุณหภูมิสูงก็สอดคล้องกับการให้ความร้อนแบบสม่ำเสมอ  ในขณะที่การสังเกตการณ์ในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า ของบ่วงแม่เหล็กที่ยาวกว่ากลับสอดคล้องกับการให้ความร้อนแบบห้วง [7]

ทฤษฎีการให้ความร้อนแบบสม่ำเสมออธิบายว่า  “บ่วงโคโรนา ที่มีความยาวและอุณหภูมิค่าหนึ่งจะมีความหนาแน่นที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม การสังเกตการณ์พบว่าความหนาแน่นของก๊าซมากกว่าค่าที่ทฤษฎีข้างต้นทำนายได้[8]  จึงเกิดแนวคิดใหม่ที่อธิบายว่า nanoflares  จำนวนมากให้ความร้อนแก่ “บ่วงโคโรนา” และสามารถอธิบายความหนาแน่นที่ตรวจพบได้  แต่ทว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจน  


ยานอวกาศฮิโนเดะ (Hinode) หรือ Solar-B ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) credit: JAXA


ล่าสุดผลการสังเกตการณ์ด้วย  X-Ray Telescope (XRT) และ Extreme-ultraviolet Imaging Spectrometer (EIS) ซึ่งติดตั้งบนดาวเทียม “ฮิโนเดะ”(Hinode) ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA)  เผยให้เห็นพลาสมาความร้อนสูง (ซึ่งร้อนกว่า 5 ล้านเคลวิน) ที่กระจายในบริเวณก่อกัมมันต์ดวงอาทิตย(solar active regions) หรือบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กกระจุกตัวอยู่ใกล้กันมากๆ     ในขณะที่ XRT วัดรังสีเอกซ์ที่ออกมาจากพลาสมาอุณหภูมิ 10  ล้านเคลวิน

การให้ความร้อนแก่โคโรนาเป็นกระบวนการเชิงพลวัติ  ความเข้มของรังสีเอกซ์และอัลตราไวโอเลตที่พบในโคโรนาเกี่ยวข้องกับความหนาแน่นของพลาสมาภายในโคโรนา หากความหนาแน่นพลาสมาต่ำ รังสีก็จะมีความเข้มหรือความสว่างต่ำ หากความหนาแน่นพลาสมาสูงก็จะมีความสว่างสูง  และโคโรนามีความสว่างสูงสุดที่อุณหภูมิประมาณ 1 ล้านองศาเคลวิน



บริเวณก่อกัมมันต์บนผิวดวงอาทิตย์สองแห่ง โดยกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์ซึ่งติดตั้งบนยานอวกาศฮิโนเดะ
Credit: NASA



James Klimchuk,  นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการณ์ฟิสิกส์สุริยะ (Solar Physics Laboratory) ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของ NASA ณ  เมือง Greenbelt มลรัฐแมรีแลนด์  สร้างแบบจำลองเชิงทฤษฎีที่อธิบายวิวัฒนาการของพลาสมาในบ่วงโคโรนาและการเพิ่มอุณหภูมิ  [8]
Klimchuk  พบว่าเมื่อ nanoflare ปลดปล่อยพลังงานอย่างฉับพลัน  พลาสมาอุณหภูมิและความหนาแน่นต่ำ จะกลายเป็นพลาสมาร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 10  ล้านองศาเคลวิน ภายในเวลาไม่นาน [9]    ความหนาแน่นของก๊าซยังคงต่ำ อย่างไรก็ตาม แสงสว่างของก๊าซก็ถือว่าริบหรี่ด้วย   ความร้อนไหลภายในบ่วงสนามแม่เหล็กจากด้านบนลงมายังด้านล่างซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้พลาสมาที่บริเวณฐานบ่วงสนามแม่เหล็กร้อนขึ้น  เนื่องจากบริเวณฐานบ่วงแม่เหล็กมีความหนาแน่นมากกว่า    ทำให้อุณหภูมิในบริเวณนี้สูงถึง 1 ล้านองศาเคลวิน  จากนั้นพลาสมาที่หนาแน่นเหล่านี้จึงขยายตัวขึ้นไป  จึงเกิดเป็นบ่วงโคโรนาที่มีอุณหภูมิสะสมประมาณ 5 – 10 ล้านองศาเคลวิน สำหรับบ่วงที่ไม่สว่าง และ 1 ล้านองศาเคลวินสำหรับบ่วงที่สว่างกว่า [9]


ภาพอุณหภูมีสีแสดงบริเวณก่อกัมมันต์บนผิวดวงอาทิตย์  AR10923 บริเวณใกล้ๆ ศูนย์กลางดวงปรากฏ  สีน้ำเงินแสดงพลาสมาอุณหภูมิประมาณ 10 ล้านเคลวิน    Credit: Reale, et al. (2009)


ผลการสังเกตการณ์จากดาวเทียมฮิโนเดะซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อ   22  กันยายน 2549   และการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า nanoflare เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์และสามารถเกิดได้ทุกๆ ที่  nanoflare  และมีส่วนสำคัญในการผันแปรของรังสีในย่านรังสีเอกซ์และอัลตราไวโอเลต  เมื่อรังสีเอกซ์และอัลตราไวโอเลตเดินทางมาถึงชั้นบรรยากาศส่วนบนของโลก  ก๊าซในชั้นบรรยากาศจะร้อนขึ้นและขยายตัว ผลการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ดาวเทียมและขยะอวกาศเคลื่อนที่ช้าลง และเกิดการดึงที่สามารถเปลี่ยนวงโคจรของดาวเทียม จนอาจการชนกันของดาวเทียมได้   นอกจากนี้รังสีเอกซ์และอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ยังก่อกวนสัญญาณวิทยุ ระบบสื่อสาร และระบบนำร่องอีกด้วย   

ที่มา

[1] Evry Schatzman,  The heating of the solar corona and chromosphere, Annales d'Astrophysique 12 (1949), pp. 203–218.
[2] Alfvén, Hannes, "Magneto hydrodynamic waves, and the heating of the solar corona". MNRAS 107(1947): 211–219.
[3]Heyvaerts and Priest, 1993, Astron. Astrophys. 117, 220
[4] Wave heating theory, http://en.wikipedia.org/wiki/Corona
[5]Magnetic Reconnection,  http://en.wikipedia.org/wiki/Magnetic_reconnection
[6]  coronal loop, http://en.wikipedia.org/wiki/Coronal_loop
[7] Winebarger, Amy R.; Mikic, Z., Can Steady Heating Proportional to Magnetic Field Strength Solve the Coronal Heating Paradox?,  American Astronomical Society Meeting 210, #91.23; Bulletin of the American Astronomical Society, Vol. 38, p.208
[8] Tiny Flares Responsible for Outsized Heat of Sun's Atmosphere, http://www.nasa.gov/topics/solarsystem/features/nanoflares.html
[9] James A. Klimchuk, Coronal Loop Models and Those Annoying Observations!, arXiv:0904.1391v1 [astro-ph.SR]

พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกับชั้นบรรยากาศ

August 13th, 2009

                    
หลังจากถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์(Kepler) จากฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา   ณ แหลมคานาเวรัล(Canaveral Cape) ก็ได้เริ่มต้นภารกิจไล่ล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ(exoplanet)  [1]

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ถูกตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์นาม โยฮันส์ เคปเลอร์ (Johannes Kepler)  ซึ่งเกิดเมื่อ ค.ศ. 1571  ในจักรวรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์แห่งชาติเยอรมัน(ในช่วงเวลานั้น)  เคปเลอร์เกิดในยุคเดียวกับกาลิเลโอ อีกทั้งยังเป็นศิษย์ของไทโค บราห์   เคปเลอร์เป็นผู้มีส่วนวางรากฐานดาราศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยการศึกษาการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุแล้วสร้างกฎสามข้อเพื่ออธิบายการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุรอบดวงอาทิตย์   ก่อนที่จะได้การพิสูจน์ด้วยกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันในเวลาต่อมา [2]



ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ในวงโคจรและเล็งไปยังบริเวณกลุ่มดาวหงส์และกลุ่มดาวพิณเพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในแถบดังกล่าว 
credit: www.nasa.gov



กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำรวจโครงสร้างและความหลากหลายของระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยสำรวจระบบดาวจำนวนมากเพื่อ   คำนวณอัตราของดาวเคราะห์หินคล้ายโลกและดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในเขตอยู่อาศัยได้(habitable zone)  ของดาวฤกษ์ชนิดต่างๆ  ศึกษาสถิติของขนาดและรูปร่างวงโคจรของดาวเคราะห์  ประมาณจำนวนดาวเคราะห์ภายในระบบดาวฤกษ์หลายดวง    คำนวณความหลากหลายของขนาดวงโคจร การสะท้อนแสงของดาวเคราะห์  ขนาด มวล และความหนาแน่นของดาวเคราะห์ยักษ์คาบสั้น   แยกแยะสมาชิกเพิ่มเติมของแต่ละระบบดาวเคราะห์โดยอาศัยเทคนิคอื่นๆ นอกเหนือจาก “การบังดาวฤกษ์โดยดาวเคราะห์”  และศึกษาสมบัติของดาวฤกษ์ที่มีระบบดาวเคราะห์       นอกจากนี้ปฏิบัติการณ์เคปเลอร์ยังสนับสนุนวัตถุประสงค์ของปฏิบัติการณ์ Space Interferometry Mission (SIM) ขององค์การ NASA  และ Terrestrial Planet Finder (TPF)   โดยศึกษาสมบัติทั่วไปของดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์บริวารเพื่อค้นหาดาวเคราะห์อื่นๆ อีกในอนาคต  เพื่อพิจารณาขอบเขตอวกาศที่จำเป็นต่อการค้นหาดาวเคราะห์ และช่วยให้โครงการ SIM มุ่งเป้าไปยังระบบดาวที่มีดาวเคราะห์คล้ายโลก  [3 ]

หลังจากส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว  ได้ทดสอบถ่ายภาพแรก (first light)  เป็นบริเวณน่านฟ้ากลุ่มดาว Cygnus-Lyra ของกาแลกซีทางช้างเผือก  ประกอบด้วย NGC 6791 และดาวฤกษ์ Tres-1 ที่มีดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสบดีเป็นบริวาร[4]



เปรียบเทียบข้อมูลจากการวัดความสว่างของ HAT-P-7b ระหว่างหอสังเกตการณ์บนพื้นโลกกับกล้องโทรทรรศน์ Kepler   Image credit: NASA


และล่าสุดจากการทดสอบเก็บข้อมูลเป็นเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 10 วัน   ก่อนที่จะเริ่มภารกิจอย่างเป็นทางการ   นักดาราศาสตร์ประจำปฏิบัติการเคปเลอร์พบว่าข้อมูลทดสอบจากกล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาตัวนี้  แม้ว่าขั้นตอนการปรับแต่งค่าการวัดพื้นฐานและซอฟตแวร์วิเคราะห์ข้อมูลจะยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม แต่ข้อมูลที่ได้สามารถแสดงการมีอยู่ของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์(giant gas planet)  ที่รู้จักกันดี   และกำลังจะตีพิมพ์รายงานการค้นพบในวารสาร Science ฉบับวันที่ 7  สิงหาคม  2552 [5]
 
Jon Morse ผู้อำนวยการแผนกฟิสิกส์ดาราศาสตร์(Astrophysics Division) ของสำนักงานผู้อำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์(Science Mission Directorate)  ที่สำนักงานใหญ่องค์การนาซา นครวอชิงตันดีซี กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการไล่ล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแรกของนาซา  เคปเลอร์ได้เปิดทางเข้าอันน่าเร้าใจต่อฉากไล่ล่าดาวเคราะห์”  “การตรวจพบชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์เพียงแค่ 10 วัน หลังจากเริ่มต้นชิมลาง การไล่ล่าดาวเคราะห์ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว”
คณะทำงานโครงการเคปเลอร์กล่าวว่าข้อมูลใหม่นี้บ่งบอกว่าปฏิบัติการนี้มีศักยภาพพอที่จะค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลก(Earth-like planet)  หากมันมีอยู่จริง   กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จะใช้เวลานับจากนี้สามปีครึ่งเพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กพอๆ กับโลก  รวมทั้งดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ในวงโคจรห่างจากดาวฤกษ์พอดีที่น้ำบนผิวดาวเคราะห์จะอยู่ในสถานะของเหลว  ซึ่งจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดและอยู่อาศัยได้  
ดาวเคราะห์ที่กล้องเคปเลอร์เก็บข้อมูลมาคือ  HAT-P-7b  ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ HAT-P-7 ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,000 ปีแสง  ดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์หลักครบรอบภายในเวลาเพียง 2.2 วัน และอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ถึง 1/26 ของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์   ด้วยวงโคจรที่ใกล้ดาวฤกษ์จนผิวดาวมีอุณหภูมิสูงและมวลของดาวเคราะห์ 1.8  เท่าของดาวพฤหัสบดี  ทำให้มันถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ดาวพฤหัสบดีร้อน (hot Jupiter)”   ดาวฤกษ์ HAT-P-7 มีมวลประมาณ 1.47  เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และมีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 6350 เคลวิน  สำหรับดาวเคราะห์ HAT-P-7b  มีมวล ใ [5][6]  
วิธีการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของกล้องเคปเลอร์คือ วิถีการวัดความสว่างของเทหวัตถุ(photometry)  โดยวัดความสว่างของแสงดาวที่ตกกระทบอุปกรณ์รับภาพ CCD (charged couple device) ของกล้อง  [7]
การวัดความสว่างของดาวฤกษ์เป้าหมาย  แล้วสังเกตการลดลงของแสงดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นเป็นคาบๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ดาวเคราะห์โคจรมาบังระหว่างโลกกับดาวฤกษ์เป้าหมาย   วิธีการนี้เรียกว่า “Transit Method”    แม้ว่าจะเคยตรวจวัดแสงจาก HAT-P-7 มาแล้ว  แต่ครั้งนี้ให้ข้อมูลจากเคปเลอร์ให้รายละเอียดสูงกว่า    ด้วยการแสดงการเพิ่มและลดลงของแสงดาวในช่วงที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนเฟส(คล้ายกับการเปลี่ยนเฟสส่องสว่างของดวงจันทร์) อย่างต่อเนื่องและราบเรียบ    





แผนภูมิการกระจายตัวของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ค้นพบแล้วตามระยะห่างจากดาวฤกษ์(Orbital Distance) และ มวล(Mass)  Image credit: NASA



แสงจากระบบดาวโดยรวมเกิดจากการรวมผลของแสงที่เปล่งออกมาจากดาวฤกษ์และแสงดาวฤกษ์ที่ดาวเคราะห์สะท้อนออกมา    นอกจากการลดลงของแสงในช่วงที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์แล้ว  ยังมีการลดลงในระดับเล็กน้อยเมื่อดาวเคราะห์อ้อมไปอยู่ด้านหลังดาวฤกษ์เนื่องจากแสงไม่มีแสงสะท้อนจากดาวเคราะห์นั่นเอง เรียกว่าช่วง occultation
ข้อมูลใหม่จากเคปเลอร์สามารถใช้ในการศึกษา “ดาวพฤหัสบดีร้อน” ในรายละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อน  ความลึกของการลดลงของแสง รูปร่าง และขนาดของกราฟแสงแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์มีชั้นบรรยากาศ โดยด้านกลางวันมีอุณหภูมิถึง  2377 องศาเซลเซียส   ความร้อนจำนวนเล็นน้อยถูกพาไปยังด้านกลางคืน  เมื่อเปรียบเทียบความสว่างในช่วง occultation กับ transit    แสดงให้เห็นว่ามีวงโคจรเป็นวงกลม  ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักวิจัยและทฤษฎี
การค้นพบใหม่นี้ยืนยันว่ากล้องเคปเลอร์มีความแม่นยำมากพอสำหรับค้นหาดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับโลก  การผันแปรความสว่างเพียง 1.5 เท่าของสิ่งที่คาดว่าจะพอได้เมื่อดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกผ่านหน้าดาวฤกษ์   แม้ว่ากล้องเคปเลอร์สามารถให้ข้อมูลได้ละเอียดยิ่งกว่านี้เมื่อโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์

อ้างอิง
[1] “Kepler  Mission Rockets to Space in Search of Other Earths”, http://science.nasa.gov/headlines/y2009/06mar_keplerlaunch.htm?list1115242
[2] “Kepler Mission > Yohannes Kepler”,  http://kepler.nasa.gov/johannes/index.html
[3] “Kepler Mission > Overview”,  http://kepler.nasa.gov/about/
[4] “NASA's Kepler Captures First Views of Planet-Hunting Territory”, http://www.nasa.gov/centers/ames/news/releases/2009/09-43AR.html
[5] “NASA's Kepler Spies Changing Phases on a Distant World”,   http://www.nasa.gov/mission_pages/kepler/news/kepler-discovery.html
[6] Note For Star HAT-P-7, http://exoplanet.eu/star.php?st=HAT-P-7
[7]  http://kepler.nasa.gov/sci/design/spacecraft.html

แปลและเรียบเรียงโดย วัชราวุฒิ กฤตินธรรม  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

----------------------------------------------------------